นครราชสีมา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว บรูไนดารุสซาลาม พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลาม ประจำประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่โคราช อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ได้มาตรฐานอาหารสากลระดับโลก ที่มีการควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตอกย้ำวิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" โดยมีนายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา เปิดเผยว่า การเข้ามาเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ท่านดาโต๊ะ เซอรี เซอเตีย ดร. ฮัจยี อับดุล มานัฟ บิน ฮัจยี เมตุซิน (Dato Seri Setia Dr Haji Abdul Manaf bin Haji Metussin)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ที่ต้องการร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในระดับทวิภาคี สำหรับความร่วมมือระหว่างบรูไนฯ และประเทศไทย โดยเฉพาะการเสริมสร้างและรับรองความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ในบรูไนฯ ผ่านการเพิ่มลู่ทางการนำเข้าทั้งสัตว์ปีก กุ้ง และข้าวจากประเทศไทย โดยในครั้งนี้ ท่านเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทย ฯพณฯ เป็งงีรัน ฮัจยี ซาฮารี บิน เป็งงีรัน ฮัจยี ซาและ (Pengiran Haji Sahari bin Pengiran Haji Salleh) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมเกษตรและอาหารเกษตร (Department of Agriculture and Agrifood: DOAA) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะด้วย
“รมว.กระทรวงทรัพยากรและการท่องเที่ยวบรูไนฯ ให้ความสนใจและประทับใจอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยภายใต้มาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยี และ AI ที่นำมาใช้พร้อมกล่าวชื่นชมบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และเชื่อว่าการหารือครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมืออันดีในอนาคต” นายสิริพงศ์ กล่าว
การเยี่ยมชมกระบวนการผลิตครั้งนี้ ซีพีเอฟได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท พร้อมนำชมการผลิต และแปรรูปเนื้อไก่ ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ด้วยโมเดลธุรกิจผลิตอาหารครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ “จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหารของผู้บริโภค” จึงเป็นข้อดีที่บริษัทสามารถควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพและสุขอนามัยความปลอดภัยอาหารของวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมุ่งเน้นการเลี้ยงสัตว์ที่ยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามหลักอิสระ 5 ประการ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดี ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เครื่องตัดแยกชิ้นส่วนอัตโนมัติ ขณะเดียวกันยังประยุกต์ใช้การบริหารระดับสากลและระบบมาตรฐานที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ (CPF Digital Traceability) และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานทุกคน สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงาน./