"เพอร์เฟ็กต์ สตอร์ม" นี่ไม่ใช่ชื่อภาพยนตร์ไซไฟเรื่องใหม่แต่เป็นคำอธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้อย่างดีที่ว่าปัญหาทุกอย่างกำลังรุมเร้า ทั้งโรคระบาดเก่าและใหม่ ปัญหาสงครามที่นำไปสู่ราคาสินค้าและพลังงานที่สูงดันเงินเฟ้อพุ่งแรงแต่ก็ฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลกทำให้ธุรกิจต้องงัดกลยุทธ์เพื่อฝ่าพายุแรงนี้ไปให้ได้
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับนโยบายและแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันควาามเสี่ยงและผลกระทบจากภายในและภายนอกประเทศไม่ให้เกิดกับธุรกิจ
โดยปีนี้ตั้งเป้าธุรกิจเติบโตอย่างน้อย 10% จากความสามารถในการขยายการผลิตอาหารสนับสนุนการบริโภคของโลก โดยยอดขายในช่วงไตรมาสแรกปีนี้เติบโตสูงถึง 16% เนื่องจากสินค้าขายได้เพิ่มขึ้นและมีระดับราคาสูงจากปีก่อนเพราะการขาดแคลนสินค้าจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น
สำหรับธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาสแรกจาก 2 ปัจจัยบวก คือ ส่งออกได้มากขึ้นจากอานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อน และจากความกังวล "วิกฤติอาหารขาดแคลน" เนื่องจาก สงครามทำให้ประเทศผู้ผลิตอาหารระงับการส่งออกมากกว่า 30 ประเทศ ซึ่งเปรียบเทียบกับปี 2564 ที่ต้องเผชิญทั้งต้นทุนการผลิตสูง ราคาในตลาดโลกไม่ดี และขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" ซีพีเอฟ มีการลงทุนและร่วมลงทุนผลิตอาหารใน 17 ประเทศ และทุกประเทศมีการติดตามสถานการณ์วิกฤติโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้นโนบาย “เพิ่มประสิทธิภาพ” โดยเฉพาะการบริหารจัดการจัดซื้อวัตถุดิบ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พร้อมทีมงานการเงินต้องติดตามความเคลื่อนไหวด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิดควบคู่กัน เพื่อบริหารจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิผลที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ 30 ประเทศทั่วโลก และเป็นการรักษาการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง
“วิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลจากความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากทุกประเทศต้องการรักษาความมั่นคงด้านอาหารเช่นเดียวกัน” นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับ วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่าย รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ค่าขนส่ง และความผันผวนของค่าเงิน นอกจากนี้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดเกิดขึ้นในการเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศ ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนสินค้าในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตทั้งโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซีพีเอฟ มีการวางแผนทางธุรกิจอย่างเป็นระบบโดยประยุกต์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelliget : AI) และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) มาช่วยในการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และธุรกิจเเปรรูปอาหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิและช่วยประเมินต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำ มีต้นทุนผลิตที่แน่นอน ช่วยลดความเสี่ยงการลงทุนและลดต้นทุนดอกเบี้ย
"วิกฤตซ้อนวิกฤตที่โลกเผชิญอยู่ขณะนี้ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 5 เดือน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความท้าทายการแสวงหาช่องทางแก้ไข ปัญหายิ่งยากและซับซ้อนหากผ่านไปได้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ถึงว่าธุรกิจนั้นๆ เป็นตัวจริงหรือไม่นั่นเอง./