ซีอีโอ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ร่วมแชร์ประสบการณ์ เวทีสัมมนา "Accelerate Thailand ขับเคลื่อนไทยไปเชื่อมโลก" ในโอกาสครบรอบ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ของสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ฝั่ง West ชั้น 3 ห้องแกรนด์ ฮอลล์
คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า ธุรกิจของซีพีเอฟ เริ่มต้นจากบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ 1 ห้องแถว แต่ความสำเร็จเกิดจากการวาง Business Model ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัย(Food Security)ของสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยกำหนดวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้ได้อาหารที่ดีต่อร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง และดีต่อใจ ทานแล้วรู้สึกดี
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีการส่งออก 50 ประเทศทั่วโลก ลงทุนใน 17 ประเทศ เข้าถึงผู้บริโภคประมาณ 4 พันล้านคน โดยมีปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ตามดำริของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้ประเทศที่เราเข้าไปลงทุน ยกตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ มีผลิตภัณฑ์ไก่ที่ส่งออกไปประเทศต่างๆ ผลิตภัณฑ์กุ้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คอสโกในอังกฤษยกให้เกี๊ยวกุ้งเป็น Global Product ผลิตภัณฑ์ High Protein Snack ผลิตภัณฑ์ Thai Cube แบรนด์ Kitchen Joy ที่ประสบความสำเร็จในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ยกระดับสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ(Innovative Product) ทั้งหมูชีวา เป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่มีโอเมก้า-3 สะสมอยู่ในไขมันของเนื้อหมู และไก่เบญจา เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้อาหารทุกคำมีคุณค่ามากขึ้น
พร้อมกันนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 7 ด้าน ที่สำคัญที่สุด คือ การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net- Zero)ใน ปี 2050 และยังเป็นบริษัทผลิตอาหารบริษัทแรกในโลกที่ได้รับการอนุมัติเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก(FLAG) จาก SBTI ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์ของซีพีเอฟ เห็นได้จากเรามี"โครงการ SMEx ต้นทุนต่ำ นำรักษ์โลก"เป็นหนึ่งในโครงการ "Partner to Grow เติบโต เคียงข้าง อย่างยั่งยืน" ต่อยอดจากโครงการ Faster Payment ที่ช่วยเหลือคู่ค้า SMEs มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถรักษากิจการในช่วงวิกฤตโควิด-19 และโครงการ ซีพีเอฟ x BBL เสริมสภาพคล่อง… เคียงข้างคู่ค้า ช่วยให้คู่ค้าขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมองว่าบริษัทที่เติบโตแล้ว ก็ต้องร่วมมือเพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอี Accerelate Thailand ไปด้วยกัน
พร้อมกันนี้ ซีอีโอประสิทธิ์ ยังได้แชร์ความเห็นถึงการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ฮับของโลกว่า ทุกคนในโลกมองประเทศไทย เป็นแหล่งที่คนอยากมาเที่ยวของโลก และอาหารไทยดังมาก มีความอร่อย แต่ทำอย่างไรให้อาหารไทยที่อร่อยไปทั่วโลกได้มากกว่านี้ การที่ซีพีเอฟมีการลงทุนและมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ ใช้พลังมหาศาลกว่าจะไปทั่วโลกได้ แต่ถ้าจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาทำ แล้วต้องใช้เวลา มันช้าเกินไป อาจจะไม่ทัน คิดว่าถ้าเป็นไปได้เราควรจะต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานอาหารไทย ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างมาตรฐานที่เป็นแบรนดิ้ง เพื่อให้คนในประเทศไทยที่จะส่งของออกไปขายทั่วโลก อยู่บนมาตรฐานที่มีรัฐบาลเป็นผูัรับรองคุณภาพ ความปลอดภัย ความสะอาด หรือการสร้างแบรนด์ที่มีความเอกลักษณ์ แม้ว่าจะต้องใช้เงินและใช้ความพยายามค่อนข้างมาก เห็นผลช้า แต่ถือเป็นการลงทุนระยะยาว รัฐบาลควรจะลงทุน และวันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย ถ้าไม่เอาบริษัทใหญ่มาช่วยเป็น Lead แต่จะให้บริษัทกลาง ขนาดเล็กมาช่วยกันทำ คิดว่ายาก
อีกปัจจัยสำคัญ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ซีพีเอฟ มีการกำหนดเลยว่าจะต้องมีความรู้ด้านดิจิทัล ทุกคนต้องรู้หมด ใครไม่รู้ไม่ได้ ถ้าใครไม่รู้แปลว่าผู้บริหารไม่ใส่ใจ ผมถือว่าเรื่องดิจิทัล เป็นเรื่องสำคัญมาก รวมทั้งด้านวิศวกรรม ซีพีเอฟ ทำเรื่อง AI เยอะมากเท่าที่เราจะมีความรู้ที่จะทำได้ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ สนับสนุนด้านวิศวกรรมและกล้าให้แรงจูงใจ ต้องกล้าทำ นอกจากนี้ มุ่งเน้นเรื่องไบโอเทคโนโลยี รัฐบาลต้องกล้ากระตุ้นให้คนลงทุน และต้องกระตุ้นให้ในแต่ละอุตสาหกรรมหาพี่เลี้ยงที่ผลักดัน Value Chain ไปด้วยกัน เชื่อว่าผู้บริหารองค์กรขนาดระดับกลางหรือใหญ่ขึ้นมา ตระหนักดีว่าอยู่คนเดียวไม่รอด การที่เราจะรอดต่อเมื่อทุกคนใน Value Chain รอดไปด้วยกัน ./