นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตามที่ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อไก่ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์ไก่แบบสด แช่เย็น และแช่แข็งจากประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2547 ล่าสุด องค์การอาหารและยา ซาอุฯ ได้ออกประกาศทางเว็บไซต์อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยจากโรงงาน 11 แห่ง โดยมีโรงงานผลิตเนื้อไก่ของซีพีเอฟ จำนวน 5 แห่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของซาอุฯ ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้ารายอื่นต่อผลิตภัณฑ์ไก่ของซีพีเอฟที่มาจากกระบวนการผลิตได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ตามหลักศาสนาอิสลาม (ฮาลาล) มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทาง
“ขอขอบคุณรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดัน ดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐบาลซาอุฯ อย่างเต็มที่ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถส่งออกไก่ไทยไปยังซาอุฯ ได้ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย โดยตลาดซาอุฯ มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่สูงสุดถึงปีละ 5.9 แสนตัน จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย” นายประสิทธิ์กล่าว
โรงงานชำแหละไก่ และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของซีพีเอฟ 5 แห่งผ่านการรับรองให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อไปที่ซาอุฯ ได้ ประกอบด้วย โรงงานชำแหละไก่มีนบุรี โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 1 โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 2 โรงงานชำแหละไก่สระบุรี และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรี หลังจากที่หน่วยงานองค์การอาหารและยาได้เดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานของซีพีเอฟล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา
ในส่วนของตลาดซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเพราะมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และภายในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) ซาอุฯ ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้าอาหารสูงที่สุดถึง 52.7% โดยมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่มากถึง 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี ในอดีต ซีพีเอฟเองเคยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปไปยังซาอุฯ เป็นอันดับ 1 ของไทย ก่อนที่มีมาตรการห้ามนำเข้าจากประเทศไทย และด้วยความพร้อมและศักยภาพของทางซีพีเอฟทำให้ทางบริษัทฯ มีความสามารถในการผลิตและส่งออกไก่แปรรูปได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนนี้
ซีพีเอฟมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการผลิตเนื้อไก่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล โรงงานชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่ทุกแห่งของซีพีเอฟ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากล อาทิ GMP, HACCP, ISO 9001, IFS, BRC Global Standard-Food, HALAL, ISO 14001-Environment Management System, Social Accountability (SA 8000), รวมถึง Thai Labor Standard (มาตรฐานแรงงานไทย-มรท 8001), OHSAS 18001 (Occupational Health and Safety System) หรือ ACC (Aquaculture Facility Certification) ที่สำคัญ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม ตั้งแต่การเชือดไก่โดยพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือการแปรรูปเนื้อไก่โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม ส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของซีพีเอฟได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ที่นำเข้าไก่จากซีพีเอฟมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี./
Tag:
#MATAWARD2024