บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ป้องกันและแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในงานประชุมผู้นำด้านความยั่งยืน Global Compact Network Thailand Annual Forum (GCNT Forum) ประจำปี 2564 จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย ซึ่งปีนี้ ชูประเด็น "Thailand's Climate Leadership Summit :A New Era of Accelerated Actions”
งานสัมมนาประจำปี GCNT Forum 2021 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 โดยซีพีเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกของ GCNT เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย ซีพีเอฟ เป็นตัวแทนบริษัทฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ และร่วมเสวนาในหัวข้อ "Solutions to Address Climate Change by Relevant Business Sectors” ทางออกในแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภาคธุรกิจในกลุ่มอาหารและการเกษตร"
นายพีรพงศ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กลยุทธ์ "CPF 2030 Sustainability in Action" มีเป้าหมายมุ่งสู่องค์กร "Carbon Neutral" สอดคล้องตามเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2573 ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว ซีพีเอฟเดินหน้ากลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ ด้วยภารกิจ 9 ความมุ่งมั่น ครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดปริมาณขยะอาหารตามแนวทางการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to Value) และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ร่วมบรรเทาและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Operational Efficiency) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การใช้วัตถุดิบหรือทรัพยาการที่ปราศจากการทำลายป่า (Deforestation Free) รวมถึงการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าไม้ (Afforestation and Reforestation)
ซีพีเอฟ นำนวัตกรรม เทคโนโลยีทันสมัย ทั้งระบบอัตโนมัติ (Automation) การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) and Internet of Things (IoT) มาช่วยจัดการในระบบ Smart Farm และ Smart Factory ส่งเสริมลดการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและขยะในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก โดยเฉพาะเป้าหมายการลดการใช้ถ่านหินในปี 2565 โดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากชีวมวลแทน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ไบโอแก๊ส (Biogas) เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจสุกร ไก่ไข่ และโรงงานแปรรูปอาหาร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารผลิตของโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บก และฟาร์มสัตว์น้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 47 เมกะวัตต์ต่อปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ปีละ 25,000 ต้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ มีเป้าหมายการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์ ฟื้นฟูและปลููกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 6,971 ไร่ โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด รวม 2,388 ไร่ (ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา) และโครงการรักษ์นิเวศ ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศรวม 1,720 ไร่ พร้อมเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้จาก 10,000 ไร่ ในปี 2563 เป็น 20,000 ไร่ ในปี 2573 ขับเคลื่อนเป้าหมายภายใต้กลยุทธ์ "CPF 2030 Sustainability in Action" ในอีก 9 ปีข้างหน้า ./