พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการฯ ให้เกียรติร่วมในพิธี ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยในรูปแบบการมีส่วนร่วม เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
ในการนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ลงนามร่วมกับผู้บริหารภาคเอกชน โดยมี นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ร่วมลงนามด้วย รวมทั้งผู้บริหารของบริษัทในเครือซีพี อาทิ ซีพี ออลล์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารของบริษัทเอกชนชั้นนำ ภาคประชาสังคม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทย เป้าหมายสำคัญ คื ยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม จับมือร่วมพัฒนา ขยายผล ยกระดับการศึกษาในระดับประเทศ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมมาร่วมกันพัฒนาการศึกษา มาเป็น Partnership ในการทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ เครือซีพี ทั้งซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ทรู ได้เข้าร่วมในโครงการฯ และพร้อมสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการช่วยพัฒนาสังคมและประเทศไทย เครือซีพีให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เชื่อว่าทุกบริษัทภาคเอกชนก็เห็นร่วมกันว่าการพัฒนาประเทศ ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนโดยมีการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญ จึงอยากให้ทุกบริษัทร่วมกันสนับสนุนกระทรวงฯ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย
ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ครงการนี้จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดการศึกษาทุกระดับ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการสร้างความร่วมมือ ด้านการบริหารวิชาการ ด้านการระดมทรัพยากรและงบประมาณ ด้านการพัฒนาครูและบุคลากร และด้านการพัฒนาผู้เรียน ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรจากผู้สนับสนุนและทุกภาคส่วน
ซีพีเอฟ เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 และในครั้งนี้เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินการต่อเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนในความดูแลของซีพีเอฟในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อาทิ โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา) โรงเรียนชุมชนบ้านวัด./
Tag:
#CareersDisablesTag:
#HumanrightAward2024Tag:
#FloodRelief