ปล่อยปูม้า 20 ล้านตัว ปลูกต้นโกงกาง เก็บขยะชายหาดบางสน จ.ชุมพร
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนชาวประมงพื้นบ้านบ้านหินกบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ดูแลระบบนิเวศอ่าวไทย ประสานพลังพนักงานปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า 20 ล้านตัวกลับคืนสู่ท้องทะเล ปลูกต้นโกงกาง 1,000 ต้น และเก็บขยะชายฝั่ง บริเวณชายหาด ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารชุมชนอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ โดยชมรมบำเพ็ญประโยชน์และชมรมท่องเที่ยวจิตอาสาได้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจและความมุ่งมั่นของบริษัทในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นต้นทางความมั่นคงทางอาหาร โดยกิจกรรมเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทรวมพลังจิตอาสาดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบสถานประกอบการ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ความรู้การปลูกป่าโกงกางที่ถูกวิธี และได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
พนักงานซีพีเอฟได้เรียนรู้การดำเนินงาน “ศูนย์เรียนรู้การเพาะและอนุบาลลูกปูม้าเพื่อการอนุรักษ์โดยชุมชนบ้านหินกบ” ซึ่งเป็นต้นแบบชุมชนชาวประมงชายฝั่งที่ร่วมกันพัฒนา “ธนาคารปูม้าชุมชน” มาตั้งแต่ปี 2558 เพาะฟักและอนุบาลลูกปูม้า เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าในอ่าวไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและอาชีพประมงพื้นบ้านของชุมชน ปัจจุบันยกระดับ “ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า 20 ล้านตัว ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะตลอดแนวชายฝั่งชุมชนบ้านหินกบสามารถรวบรวมขยะชายฝั่งได้รวม 98 กิโลกรัม พร้อมทั้งปลูกต้นโกงกาง 1,000 ต้น อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเพิ่มโอกาสรอดและเติบโต ขยายพื้นที่สีเขียว เสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ช่วยป้องกันการกัดเซาะ เป็นแนวกำบังคลื่นลม เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย
“นางสาววิไลรัตน์ สุขคำ” พนักงานซีพีเอฟ ได้สะท้อนความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสา ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์ปูม้า และการปลูกต้นโกงกางที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้นโกงกางมีความสำคัญและมีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศของทะเลอ่าวไทย เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตัวอ่อน ช่วยสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงให้กับชุมชนด้วย
ด้าน "นางอุมาพร ประสมผล" พนักงานฟาร์มปะทิว กล่าวว่า การทำกิจกรรมครั้งนี้ช่วยให้กับพนักงานซีพีเอฟที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งสร้างคุณค่าร่วมให้กับระบบนิเวศ และความมั่นคงทางอาหาร และอาชีพประมงให้แก่ชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่สถานประกอบการของบริษัทอีกด้วย./