ซีอีโอประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ESG Strategies and Challenges for Sustainable Growth of Businesses" ร่วมแชร์มุมมองการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG (Environmental Social Governance) ในการประชุมและสัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาทางการบัญชี Account and Business Innovation Beyond ให้กับคณาจารย์สาขาการบัญชีและธุรกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดโดยสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านการบัญชีให้แก่คณาจารย์ในหลักสูตรทางการบัญชีทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน และการพัฒนาผลงานทางวิชาการทางด้านการศึกษาทางบัญชีในประเทศไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของสภาวิชาชีพบัญชี
ซีอีโอประสิทธิ์ กล่าวว่า หลัก ESG ในการดำเนินงานของซีพีเอฟ อาจมีความแตกต่างจากบริษัทอื่นๆในบางมุม เนื่องจากธุรกิจของของซีพีเอฟ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ดังนั้นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจึงถูกปลูกฝังให้อยู่ในแนวความคิดของบริษัทโดยอัตโนมัติมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ซีพีเอฟยึดมั่นในหลักปรัชญา 2 เรื่อง คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ร.9 และหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดของท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ว่าถ้าเราจะทำธุรกิจใดๆก็ตาม สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ ไปลงทุนในประเทศใด ต้องคิดว่าสร้างประโยชน์อะไรให้ประเทศนั้น สร้างประโยชน์ให้สังคมในประเทศนั้นอย่างไร ต้องทำสองเรื่องนี้ให้สำเร็จก่อน บริษัทจึงจะได้ประโยชน์
"ในการดำเนินธุรกิจ ซีพีเอฟมีวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก เราตั้งใจสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหารที่ดีต่อกายและใจ ดีต่อกายคือ ทำอย่างไรให้อาหารทุกคำที่ทานได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีที่สุด ดีต่อใจ หมายถึง เรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม อาหารที่ทานแล้วสบายใจว่ามาจากกระบวนการที่มีการดูเป็นอย่างดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกคำที่ทานต้องช่วยดูแลสังคมและดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้โลกเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ESG จึงฝังอยู่ในวิสัยทัศน์(Vision) และพันธกิจ(Mission)ของซีพีเอฟ ไม่ใช่แค่ระดับของกลยุทธ์ และESGไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ และหากเริ่มเร็วก็จะปรับตัวได้ก่อน" CEO ประสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ดำเนินงานสอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ประการ โดยโฟกัสประเด็นความยั่งยืนเป็น 7 เรื่อง ประกอบด้วย ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน การเปลี่ยนแแปลงสภาพภูมิอากาศ บริหารจัดการน้ำ พนักงานและชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพ และ บรรษัทภิบาลและการบริหารความเสี่ยง
CEO ประสิทธิ์ ยกตัวอย่าง การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ESG ว่า เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างในการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป อังกฤษ เยอรมนี ที่สนใจเรื่องนี้ โดยซีพีเอฟได้ประกาศนโยบายเข้มแข็งที่สุด เท่าที่วันนี้ทุกบริษัทในโลกจะทำได้ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมาก เพราะประเทศไทยประกาศเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2065 บริษัทฯจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่เกี่ยวข้องให้มาทำตามนโยบายของเราให้ได้ เป็นนโยบายเดียวกับนโยบายของทั้งโลก
ในด้านสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยซีพีเอฟเป็นบริษัทผลิตอาหารบริษัทแรกในโลกที่ได้รับอนุมัติทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว สอดคล้องตามมาตรฐาน Forest, Land and Agriculture (FLAG) ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับภาคเกษตรและอาหาร จากองค์กร the Science Based Targets initiative (SBTi) มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 1 และ 2 ลง 42% และขอบเขตที่ 3 ลง 30.3% ให้ได้ภายในปี 2030 และภายในปี พ.ศ.2050 มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซขอบเขต 1 และ 2 ลง 90% และขอบเขต 3 ลง 72% เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯประยุกต์ใช้โซลูชันด้านความยั่งยืนของ เอสเอพี เพื่อบันทึก รายงาน และดำเนินการกับข้อมูลด้านความยั่งยืน ช่วยในการขับเคลื่อนการบัญชีคาร์บอน ทั้งในระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์
รวมไปถึงสิ่งที่บริษัทฯดำเนินการไปแล้ว คือ การประกาศนโยบายไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ว่าจะซื้อวัตถุดิบเข้ามา ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ ต้องไม่มาจากพื้นที่ที่บุกรุกป่า และเผาเแปลง โดยนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาติดตามดูแลการเผาแปลง หากพบว่าเกษตรกรมีการเผาแปลง จะแจ้งเตือนและให้ความรู้ รวมทั้งแนะนำวิธีการจัดการตอซัง แต่หากพบว่ามีการเผาแปลงซ้ำอีก จะงดรับซื้อเป็นเวลา 1 ปี
ด้านสังคม ซีพีเอฟ เพิ่มศักยภาพให้กับคู่ค้าโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 6,000 ราย ผ่านโครงการ Partner to Grow ส่งเสริมคู่ค้ามีขีดความสามารถสูงขึ้น ร่วมขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net-Zero อาทิ ส่งทีมวิศวกรรมของบริษัทฯ ช่วยผู้ประกอบการปรับปรุงเครื่องจักร กระบวนการทำงาน และขอให้คู่ค้านำการประหยัดต้นทุนไปใช้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ในงานสัมมนาดังกล่าว CEO ประสิทธิ์ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นและให้คำแนะนำกับคณาจารย์ฯ ถึงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพื่อเป็นกำลังสำคัญผลัก
ดันเรื่อง ESG ในองค์กรว่า บริษัทหรือธุรกิจที่จะอยู่ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ต้องมีแนวนโยบายเรื่อง ESG ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงพนักงานที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมด้าน ESG พร้อมกันนี้ คุณประสิทธิ์ ยังได้ถ่ายทอดหลักคิดว่า "ธุรกิจใหญ่อยู่คนเดียวไม่ได้ เป็นพี่ใหญ่ต้องดึงทุกคนในซัพพลายเชนไปด้วยกันให้ได้ คนมักจะเข้าใจว่าบริษัทใหญ่ๆอยู่ได้สบาย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ แต่บริษัทใหญ่จะอยู่ได้เมื่อเอสเอ็มอีในห่วงโซ่อุปทานอยู่ได้" ./