บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำบริษัทฯ ขานรับนโยบายรัฐในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสังคมไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 และรับวิถี New Normal
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนเป็นวงกว้างทั่วโลก ไม่ใช่เพียงการสูญเสียทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนทุกระดับชั้น ทุกเชื้อชาติได้รับความเดือดร้อนทั้งสุขภาพ ความเป็นอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าวิกฤตครั้งนี้มีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่กระทบมาก เช่น สายการบิน โรงแรม และการท่องเที่ยว 2.กลุ่มที่กระทบไม่มากหรือเสมอตัว เช่น ธุรกิจอาหาร 3.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 เช่น กลุ่มที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย
ในส่วนของ ซีพีเอฟ ได้รับผลกระทบจำกัดจากการบริโภคที่ลดลงในช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อคดาวน์ อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น Modern trade Supermarket ตลาดสด จึงช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ ซีพีเอฟ ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้ คือการบริหารในช่วงวิกฤตที่รวดเร็วและกล้าตัดสินใจ ซึ่งบริษัทฯ มีกระบวนการบริหารจัดการเรื่องนี้ อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโควิด-19 มีคณะทำงานร่วมประชุมเพื่อรายงานผลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที อีกประเด็นคือ เรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทที่นอกจากต้องปกป้องดูแลพนักงานให้ปลอดภัยแล้ว จะปกป้องสังคมและประเทศชาติอย่างไร ซึ่งจากความคาดหวังของสัมคมกับภาคอุตสาหกรรมอาหารนั้น ซีพีเอฟ จึงมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะมีอาหารคุณภาพปลอดภัยเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการระบบขนส่งอาหารอย่างจริงจังเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ริเริ่ม โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 200 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนผู้เฝ้าระวังที่กลับจากประเทศเสี่ยงอีก 20,000 คน และมี “โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาล และครอบครัวแพทย์-พยาบาล” จำนวน 20,000 ครอบครัว พร้อมทั้งมอบส่วนลดสุดพิเศษ ช่วยลดค่าครองชีพ สำหรับการซื้อสินค้าในร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำนวน 1 ล้านใบ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ในโครงการ “คูปองส่วนลดจากใจ...ให้ อสม. #ฮีโร่ที่ลืมไม่ได้” โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนำ CPF Food Truck ส่งมอบอาหารให้กับชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 100 ชุมชน ในโครงการ "อาหารปลอดภัย จากใจ...สู่ชุมชน" โดยผนึกกำลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดแคมเปญ “ลดจริง..ไม่ทิ้งกัน ช่วยค่าครองชีพ” ในร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำหน่ายข้าวกล่อง ในราคาเพียง 20 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย ให้เข้าถึงอาหารอร่อย คุณภาพดีในราคาประหยัดด้วย เป็นต้น
หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรน แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารมีทิศทางดีขึ้น สำหรับมาตรการปลดล็อคในระยะที่ 6 นี้ มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับหลายภาคส่วน มีผลต่อต้นทุน ประสิทธิภาพ การผลิตฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเป็นลำดับ สำหรับความพร้อมในการรับมือหากโควิด-19 กลับมาระลอกสอง มองว่าจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เนื่องจากทุกคนมีประสบการณ์และขีดความสามารถในการรับมือดีขึ้น
"การเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับสุขอนามัยทั้งประเทศ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปช่วยในการปรับเปลี่ยนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจหลายๆ ช่องทางตามความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางตลาดสดที่มีการยกระดับพื้นที่ขายสินค้าให้มีความสะอาดถูกหลักอนามัย" นายประสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เข้มแข็ง เช่น การร่วมมือกับกรมปศุสัตว์เรื่องการป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันโรค ASF ได้นานติดต่อกัน 2 ปี และเป็นประเทศเดียวในระดับภูมิภาคที่ยังไม่เคยเกิดโรค ASF สนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงอีกด้วย./