เพราะ “ครัวของโลก” คือเป้าหมายใหญ่ที่จะนำซีพีเอฟเป็นองค์กร “ระดับโลก” วิถีปฏิบัติจึงต้องคิดคำนึงรอบด้าน ไม่เพียงผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังต้องมองไปถึงความปลอดภัยสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย
แนวคิดเรื่องการดำเนินงาน “ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม” (Safety Health and Environment = SHE) จึงถูกปลูกฝังจนเป็นหนึ่งในดีเอ็นเอขององค์กรแห่งนี้
สุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่าการเป็นองค์กรระดับโลกหรือ Global Company ต้องมีองค์กรประกอบหลายด้าน นอกเหนือจากตัวเลขของรายได้ที่แสดงถึงขีดความสามารถด้านธุรกิจขององค์กรแล้ว มุมมองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเดินหน้าพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน
ด้วยความที่เป็นองค์กรใหญ่ มีธุรกิจครอบคลุมถึง 12 ประเทศ ซีพีเอฟจึงต้องมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็น “หนึ่งเดียว” ในการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในหลักการนั้นคือ SHE
“SHE เปรียบเสมือนคัมภีร์ที่ซีพีเอฟยึดถือในการบริหารงาน รวมถึงการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในทุกๆ ประเทศ เพราะหลักปรัชญาของซีพีเอฟในการดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่บริษัทไปลงทุนให้ดีขึ้น และเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน”
สุชาติ บอกว่า ซีพีเอฟใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมถึงสังคมแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงได้พัฒนาระบบ SHE ในแบบฉบับของซีพีเอฟที่เรียกว่า มาตรฐานการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟ (CPF SHE Management System : CPF SHE MS) ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2551โดยมีคณะกรรมการบริหารด้าน SHE ของซีพีเอฟเป็นผู้กำกับดูแล
ระบบ CPF SHE MS ถูกแทรกซึมเข้าไปในส่วนปฏิบัติงานหลายส่วนทั้งการจัดการสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชนแวดล้อม ซึ่งเป็นระบบที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของซีพีเอฟ ที่จะก้าวสู่องค์กรนานาชาติ
แม้จะเป็นระบบที่ซีพีเอฟพัฒนาขึ้นเอง แต่เป็นระบบการบริหารที่เป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากมีพื้นฐานการดำเนินงานที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 14001 ว่าด้วยการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และ ระบบ OHSAS 18001 ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย ตลอดจน ข้อกำหนดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าของบริษัท และมีระบบการตรวจประเมินและรับรองระบบที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 19011
ที่สำคัญยังสามารถขอการรับรองระบบนี้จากหน่วยรับรองภายนอก (Third Party) ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ CPF ได้อีกด้วย
โดยหลักการของ CPF SHE MS จะยืนอยู่บนหลักการ 5 ประการ ได้แก่
ประการแรก ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกหน่วยงานของซีพีเอฟที่มีเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำการติดตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังใช้ติดตามแผนงานในการแก้ไขผลการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายได้อีกด้วย
สอง ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบ อาทิ แผนฉุกเฉินรองรับอัคคีภัย สารเคมีรั่วไหล แผนฉุกเฉินไข้หวัดนก และอื่นๆ ตามความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น และที่สำคัญ CPF ยังได้สร้างบุคลากรในการเตรียมความพร้อมสำหรับรับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการฝึกซ้อมเป็นประจำ เพื่อความมั่นใจในการรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
ประการต่อมา เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ และพัฒนาบุคลากรด้าน SHE เป็นมืออาชีพ
“การมีส่วนร่วมของพนักงานมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้การดำเนินระบบ CPF SHE MS ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราจะมีการสื่อสารภายในเริ่มตั้งแต่นโยบายที่ชัดเจนจากซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงจนถึงการผลักดันนโยบายด้านSHE สู่การปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง และที่สำคัญพนักงานร่วมกันแสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมกลุ่มย่อย เพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน จากไอเดียของพนักงานเอง”
สุชาติ บอกอีกว่า ไม่เพียงแค่การเปิดรับความคิดเห็นจากพนักงานในทุกระดับแล้ว ซีพีเอฟยังฝึกฝน เพื่อสร้างบุคลากรภายในให้เป็นผู้ตรวจประเมินระบบ CPF SHE MS จนสามารถดำเนินการตรวจประเมินระบบ CPF SHE MS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ประการสุดท้าย นำความรู้ด้าน SHE ไปเผยแพร่ส่งเสริมสนับสนุนชุมชน และสังคมโดยทุกหน่วยงานของ CPF จะทำการสำรวจชุมชนรอบข้างว่าได้รับผลกระทบด้านSHE อย่างไร รวมถึงร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหา
ตลอดระยะเวลาการนำระบบ CPF SHE MSมาใช้ สุชาติ บอกอย่างภูมิใจว่า ซีพีเอฟได้รับรางวัลสถานประกอบการปลอดภัยเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้บริษัทได้รับรางวัลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลสถานประกอบการดีเด่น ระดับประเทศ จำนวน 53 แห่ง,รางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่นระดับประเทศ 1 ท่าน คือ นางสาวนารีรัตน์ ทองสงฆ์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ศรีราชา จ.ชลบุรี และรางวัลทีมฉุกเฉินในสถานประกอบการ รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 ทีมได้แก่ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Zero Accident ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงถึงประสิทธิผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ในปี 2557 จำนวน 43 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็นประเภท
ระดับต้น (ชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า 1,000,000 ชั่วโมงช่วงเวลา 1ปี) จำนวน 33 หน่วยงาน
ระดับทองแดง (ชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ 1,000,000 – 2,999,999 ชั่วโมง) จำนวน 4 หน่วยงาน
ระดับเงิน (ชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ 3,000,000 – 9,999,999 ชั่วโมง) จำนวน 6 หน่วยงาน
สุชาติ บอกว่า เป็นรางวัลความสำเร็จที่มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน จากประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องของซีพีเอฟ และจะยังคงพัฒนาต่อไปในการดำเนินงานด้านSHE เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีต่อพนักงาน รวมทั้งมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อพนักงานหรือบุคลากร ในด้านขวัญและกำลังใจในการทำงานทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพทั้งต่อระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์
“ท้ายสุดแล้วเมื่อผลิตสินค้าได้คุณภาพดี ก็จะย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภคที่จะได้บริโภคสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการลูกค้า สังคม ชุมชม และการดำเนินธุรกิจของ CPF อย่างต่อเนื่องต่อไป”
และนี่คือก้าวเล็กๆ ที่นำซีพีเอฟสู่องค์กรระดับโลก./
ขอขอบคุณ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Tag:
#RestoretheOcean