ซีพีเอฟ แนะนำให้เกษตรกรได้ปรับวิธีการเลี้ยง และเน้นดูแลสุขภาพสัตว์และโรงเรือน เพื่อลดความเครียดของสัตว์และป้องกันความเสียหายต่อฝูงสัตว์ จากภัยแล้ง
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี นับแต่ปี 2522 โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการดูแลความเป็นอยู่ของสัตว์ให้เหมาะสม เพื่อให้สัตว์ไม่เจ็บป่วย และเกิดความเครียดสะสม
สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ปกติจะต้องกินน้ำอย่างน้อย 2 เท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน หากขาดน้ำเกินร้อยละ 20 ไก่จะกินอาหารลดลง เกิดภาวะเครียด อัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตและภูมิคุ้มกันโรคลด มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย กรณีที่ไก่ได้รับน้ำไม่เพียงพอสังเกตได้จากอาการที่แสดงออก เช่น อาการซึม แข้งไก่มีลักษณะแห้งจากสภาพแห้งน้ำ และหากไก่สูญเสียน้ำไปกว่า 1 ใน 10 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในร่างกาย จะทำให้ไก่ตายได้
นอกจากนี้ เกษตรกรต้องใส่ใจกับคุณภาพน้ำด้วย โดยทั่วไปน้ำที่ดีควรเป็นน้ำบาดาล หากจำเป็นต้องใช้น้ำผิวดินควรปรับคุณภาพน้ำก่อน หากน้ำขุ่นควรใช้สารส้ม 1 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร แกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่ความเข้มข้น 3 - 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) จะช่วยป้องกันอาการท้องเสียในสัตว์ได้ ควบคู่กับการป้องกันโรคและสัตว์พาหะ ทั้งนก หนู แมลง ยุง และต้องเน้นการเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าโรงเรือนเลี้ยงสัตว์แต่ละหลัง
“ในช่วงที่อากาศร้อนจัด เกษตรกรต้องหมั่นตรวจตราอย่าให้มีรอยรั่วของระบบอีแว็ปที่อากาศร้อนจากภายนอกจะผ่านเข้ามาได้ ทั้งนี้เกษตรกรสามารถใช้สเปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิลง แต่ต้องระวังอย่าให้พื้นแฉะและมีกลิ่นก๊าซแอมโมเนียเพราะสัตว์จะยิ่งเครียดมากขึ้น” น.สพ.นรินทร์ กล่าว
ด้าน น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุกรในฤดูแล้งและช่วงอากาศร้อนว่า เกษตรกรต้องดูแลสุขภาพสัตว์และการจัดการฟาร์มเป็นพิเศษ โดยสุกรในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป เกษตรกรต้องควบคุมการทำงานของพัดลมให้เหมาะสม อย่าให้ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้สัตว์เกิดความเครียด ควรปรับสภาพภายในโรงเรือนให้สัตว์อยู่สบาย รวมทั้งควรเตรียมเครื่องสำรองไฟและน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับกรณีไฟดับ เพื่อให้ระบบทำงานได้ตามปกติ
“เกษตรกรต้องสำรองน้ำกิน-น้ำใช้ให้เพียงพอต่อการบริโภคของสุกร โดยเฉพาะในฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ จะต้องใช้น้ำทั้งกินและใช้เฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว และในช่วงที่อากาศร้อนจัด อาจต้องขังน้ำในรางอาหาร ส่วนฟาร์มสุกรขุน กินและใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 40 ลิตรต่อตัว ควรเพิ่มรางน้ำให้สุกรกินอย่างเพียงพอและสะดวก ในโรงเรือนที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรขังน้ำให้พอดี” น.สพ.ดำเนิน กล่าว