โลก กำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดกระแส “อนุรักษ์” และ เรียกร้อง “ความรับผิดชอบ” จากประชาคมโลก ตลอดจนบริษัท ห้าง ร้าน เพื่อรวมพลังกันสร้างโลกในอนาคตให้ “คงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน” โดยเฉพาะการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน สินแร่ ป่าไม้ และไม่สามารถก่อเกิดขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างคุ้มค่าที่สุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแต่เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
โจทย์ของโลกในวันนี้ คือ ทำอย่างไรเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่กับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป และปัญหาใหญ่ คือ ขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค โดยเฉพาะขยะพลาสติก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy คือ การนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เกิดของเสียน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมใช้ในระบบอุตสาหกรรมการผลิต โดยนำวัสดุหรือวัตถุดิบในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มาสร้างคุณค่าใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่เกิดของเสียที่จะส่งผลกระทบเชิงลบทั้งภายนอกและภายในองค์กร
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักดีถึงความสำคัญในการสร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่กำหนดไว้ 17 เป้าหมาย โดย ซีพีเอฟสนับสนุนทั้งสิ้น 11 เป้าหมาย ตลอดจนดำเนินธุรกิจตามแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact)
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ทั้งในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ การผลิตอาหารพร้อมรับประทาน บรรจุภัณฑ์ และสำนักงานของบริษัท และให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน โดยนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่อีกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การคิดค้นนวัตกรรมสูตรอาหารสัตว์รักษ์โลก ใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มปศุสัตว์จากไบโอแก๊สและโซล่าร์รูฟท็อป การใช้แกลบและขี้เลื่อยเป็นเชื้อเพลิงให้พลังงานในโรงงานแปรรูปอาหาร เป็นต้น ในส่วนของสำนักงานให้มีการแยกขยะ เพื่อนำขยะพลาสติกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลัก ของกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาด โดยมุ่งมั่นออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการใช้งานตลอดอายุบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การปกป้องผลิตภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง การบริโภค รวมทั้งการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อช่วยลดการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (Food Waste) เช่น โครงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถุงไก่สด ด้วยการเปลี่ยนใช้ถุงพลาสติกชั้นเดียว แทนถุงพลาสติกหลายชั้น ลดขนาดถุงให้เล็กลง ทำให้กล่องกระดาษสำหรับขนส่งเล็กลงและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่งช่วยลดการใช้กระดาษ 11% ลดใช้พลาสติก 43% และลดต้นทุน 24% ปัจจุบัน สัดส่วนบรรจุภัณฑ์ของ ซีพีเอฟ จำแนกตามวัสดุได้ดังนี้ คือ พลาสติก 74% กระดาษ 24% และอื่นๆ 2% ตามลำดับ
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียและลดต้นทุนในกระบวนการผลิตให้ได้สูงสุด การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการรณรงค์การแยกขยะและตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการนำทรัพยากรหรือวัตถุดิบบางประเภทที่ถูกใช้ไปแล้ว สามารถนำกลับมาแปรรูป เช่น เช่นการนำมูลสัตว์ในฟาร์มสุกร ไปผลิตไบโอแก๊ส เพื่อใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนในฟาร์มปศุสัตว์ได้อีก
“ซีพีเอฟ กำหนดเรื่องการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ในเสาหลักด้าน ดิน น้ำ ป่า คงอยู่ โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งป่าบกและป่าเลน ตลอดจนการลดการใช้พลังงานและน้ำในกระบวนการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายวุฒิชัย กล่าวย้ำ
บริษัทฯ ยังส่งเสริมให้คู่ค้าธุรกิจและชุมชน ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากตัวเอง ที่บ้านและขยายไปยังชุมชน ด้วยการแยกขยะและการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนทำงานได้ครบวงจร จากการผลิต (Make) ไปสู่การใช้งาน (Use) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Return) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด.
Tag:
#ForestProtect