คอลัมน์ Double Standard: โอฬาร สุขเกษม
เห็นพูดกันมากเรื่องทำธุรกิจครบวงจรหรือไม่ครบวงจรอย่างไหนจะดีกว่า เรื่องนี้ผมว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ใครทำอะไรได้ดีกว่า ได้มาตรฐานกว่า ถูกสุขลักษณะมากกว่า ทำในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า และสามารถตรวจสอบได้ ผู้นั้นน่าจะมีโอกาสมากกว่า
ผมไปสวิตเซอร์แลนด์เมื่อหลายปีมาแล้ว วันนั้นเป็นวันพฤหัสบดี ที่เมืองโลซานน์ เห็นชาวบ้านเอาข้าวของมาขายริมทางเท้าบนถนนแห่งหนึ่ง สินค้าล้วนแล้วเป็นผลิตผลทางการเกษตร เขาให้วันพฤหัสบดีเพียงวันเดียวในรอบสัปดาห์ให้ชาวบ้านเอาของมาขาย ส่วนใหญ่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ถามคนในถิ่นดูว่า ราคาซื้อขายเป็นอย่างไรหากเทียบกับซื้อสินค้าชนิดเดียวกันในซูเปอร์มาร์เก็ต ได้รับคำตอบว่า สินค้าเหล่านี้ชาวเกษตรกรปลูกเองและนำมาขายเอง คนสวิสส่วนใหญ่จะช่วยๆ กันซื้อแม้จะมีราคาสูงกว่าที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เขาซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่ยั่งยืน ขณะที่คนซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตเขาต้องการประหยัดเงิน ส่วนใหญ่นิสิตนักศึกษาชอบซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า
ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าคนในสังคมเขาคิดอ่านกันอย่างไร เมื่อมีฐานะหน่อยและมีโอกาสที่จะช่วยเหลือเกษตรกรได้เขาก็เลือกที่จะช่วยเหลือ เรื่องนี้ไม่มีการบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญเกษตรกรของที่นั่นเขามีมาตรฐานในการเพาะปลูก มีความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ เรียกว่าความคิดความอ่านของเขาเจริญและพัฒนามามากแล้ว
ว่าด้วยการทำ "ธุรกิจครบวงจร" โดยทั่วไปแล้ว ช่วยให้เกิดการควบคุมประสิทธิภาพและมาตรฐานได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต วงการอาหารทั้งรายเล็กรายใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำครบวงจรเพิ่มขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องตอบคำถามของผู้บริโภคให้ได้ว่าวัตถุดิบมาจากที่ไหน ใครเป็นคนผลิต มีมาตรฐานอะไรหรือไม่ ดังนั้นการทำครบวงจรจึงเอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคสามารถติดตามหรือตรวจสอบที่มาของอาหารที่ซื้อมา ทั้งสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจที่ได้เลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้บริโภค ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในไทยก็กำลังเดินตามทิศทางนี้
ครบวงจร จึงช่วยสร้างประสิทธิภาพ และจุดแข็งที่เป็นข้อแตกต่างให้กับสินค้าของแบรนด์นั้น เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจ ดูได้จากร้านกาแฟแบรนด์ไทยและแบรนด์นอกก็เน้นการทำครบวงจรเพื่อเพิ่มคุณภาพและสร้างมาตรฐานของวัตถุดิบที่ชงกาแฟและแก้วที่ใส่ใช้วัตถุดิบที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่หรือมิต้องดูอื่นไกล ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงยังให้ความสำคัญกับการบอกถึงแหล่งที่มาของผัก หรือวัตถุดิบที่นำมาปรุงให้กับลูกค้า
ผู้ผลิตรายเล็กรายใหญ่จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำครบวงจร เพราะช่วยก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต ช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนในตลาดเดือดร้อนถึงผู้บริโภคต้องเจอกับภาวะสินค้าแพงโดยใช่เหตุ หรือต้องเกิดการเรียกคืนสินค้าเพราะสินค้าไม่ได้คุณภาพ ยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจากองค์กรใหญ่ไปสู่หน่วยผลิตรายย่อย
เช่น "ซีพีเอฟ" ผู้ผลิตอาหารครบวงจรรายใหญ่รายหนึ่งในไทย ได้ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่สำคัญของกระบวนการผลิตจำนวน 5,000 ราย ช่วยให้การเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน มีการควบคุมคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและความต้องการของผู้บริโภค ไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร นอกจากนี้การทำครบวงจรทำให้เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้ และจุดประกายแนวทางใหม่ๆ ปรับปรุงการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดเวลาการผลิต ได้ผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้น เช่น กาแฟ "อเมซอน" ร่วมกับ "เอสซีจี" พัฒนาแก้วกระดาษย่อยสลายง่าย. .นั่นล่ะครับคือ ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจแบบครบวงจร
cr. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ