จากนโยบายของรัฐบาลในการจัดระเบียบพื้นที่ทำกินทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยพุ่งเป้าไปที่การจัดสรรที่ดินให้กับคนยากจนและไร้ที่ทำกินอย่างเป็นธรรมเพื่อการสร้างรายได้และอนาคตให้คนในชาติอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติให้เติบโตอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะกระจายพื้นที่ทำกินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีกรรมสิทธิ์ทำกิน มีที่ดินเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อลดต้นทุนการผลิตขณะเดียวกันจะเป็นการป้องกันการบุกรุกผืนป่า เพื่อรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
จากตัวเลขของศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 320,696,888 ไร่ แบ่งเป็น ป่าไม้ 102,119,540 ไร่, พื้นที่นอกการเกษตร 69,341,116 ไร่ และพื้นที่ทางการเกษตรมีสัดส่วน 149,236,233 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 46.53 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือเรียกได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นพื้นที่เกษตร ทั้งนี้ยังไม่นับรวมพื้นที่รกร้างและที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ภาครัฐกำลังเดินหน้าจัดระเบียบที่ดินอย่างเข้มแข็ง ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ประชาชน โดยรัฐบาลทยอยมอบเอกสารในการขอใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับเกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ด้วยการจัดทำอย่างเป็นระบบโดยพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่บุกรุกเดิม ที่ราชพัสดุ และที่ของราชการ โดยจะใช้มาตรา 44 ห้ามขายหรือขยายพื้นที่ลุกลามไปเหมือนเดิมอีกไม่ได้ ในระยะที่หนึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 6 แห่ง ครอบคลุม 4 จังหวัด รวม 53,691 ไร่ ระยะที่สอง 8 แห่ง ใน 8 จังหวัด รวม 51,929 ไร่ รวมทั้งหมด 12 จังหวัด โดยจะให้สิทธิ์กับคนที่มีการบุกรุกพื้นที่ทำกินผิดกฎหมายและไม่มีที่ทำกินจริงๆ เป็นอันดับแรก
ส่วนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรมานานแล้ว เพราะตระหนักดีว่าเมื่อเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีความตั้งใจจริงในการผลิตก็จะได้ผลผลิตที่ดี และสามารถแข่งขันได้ตามมา ความรับผิดชอบต่อสังคมในส่วนนี้ เอกชนหลายรายมีแผนดำเนินการชัดเจนและทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรม 3 แห่ง ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนตั้งแต่การจัดหาที่ดิน ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาจนเกษตรกรสามารถเข้าทำกิน สร้างอาชีพ สร้างหลักฐานมั่งคง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในโครงการดีขึ้น จนกลายเป็นทรัพย์สินที่ตกทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่น-ลูกรุ่นหลาน โดยแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรที่ดินและคัดเลือกเกษตรกรยากจนไม่มีที่ดินทำกิน
สำหรับหลักการสำคัญของโครงการคือเน้นแก้ปัญหาหลักของเกษตรกร 3 ประการ คือ การขาดความรู้ทันสมัยและเทคโนโลยีขาดเงินทุนในการทำอาชีพ และขาดตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การเติมเต็มในส่วนที่เกษตรกรขาดจะช่วยผลักดันให้การผลิตก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ
ทั้ง 3 โครงการ มีความและแตกต่างและความเหมือน ไล่เรียงกันตามปีที่กำเนิดของโครงการ ดังนี้ คือ “โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ก่อตั้งในปี 2520 ที่ ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 1,200 ไร่ เดิมพื้นที่เป็นดินทรายเสื่อมสภาพ เป็นที่ดอนเหมือนหลังเต่าจึงไม่เก็บน้ำ เพาะปลูกไม่ได้ผล จากประสบการณ์และการใช้เทคโลโลยีทันสมัยของซีพี ทำการพลิกฟื้นที่ดินเสื่อมโทรมให้ทำกินได้ มีการจัดสรรพื้นที่และอาชีพอย่างเหมาะสม จัดสรรให้กับเกษตรกรยากไร้ 50 ครอบครัว ซึ่งเป็นเกษตรกรดั้งเดิมและเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
ภายใต้โครงการนี้ มีการน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยซีพีนำพื้นที่มาจัดสรรให้เกษตรกรใช้เป็นที่ดินทำกินจำนวน 70 ครอบครัวๆละ 24 ไร่ ซึ่งเป็นเกษตรกรดั้งเดิมและเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการหาสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินกู้ให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นเงินทุน สำหรับอาชีพที่นำมาส่งเสริมให้กับเกษตรกร ได้แก่ การเลี้ยงหมูพ่อแม่พันธุ์และหมูขุน ควบคู่กับการปลูกมะม่วงเป็นอาชีพเสริม ซึ่งซีพีเอฟรับหน้าที่ในการนำเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดและความรู้ด้านการเลี้ยงหมูสมัยใหม่ที่บริษัทใช้อยู่มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร และรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในราคาประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาตลาดที่ผันผวน เกษตรกรในโครงการนี้ใช้เวลาเพียง 10 ปี ก็สามารถจ่ายเงินกู้แก่ธนาคารได้หมด ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างอาชีพเข้มแข็งมีรายได้แน่นอน ที่สำคัญทุกครอบครัวมีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเองที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
“38 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของเกษตรกรหนองหว้า คือ การเปลี่ยนครอบครัวเกษตรกรยากจนและแร้นแค้นไม่มีที่ดินของตนเอง กลายเป็นเกษตรกรที่มีแหล่งทำกิน มีอาชีพที่สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000 บาท มีทรัพย์สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนและจบการศึกษาในระดับสูง ที่สำคัญเกษตรกรและซีพีเอฟได้ร่วมกันพัฒนาอาชีพ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นชุมชนเลี้ยงหมูที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย” ภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด กล่าว
จุดเริ่มต้นของโครงการหนองหว้า จุดประกายให้เกิด "โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร" ในปี 2521 ด้วยการรวบรวมที่ดินใน ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ให้เป็นผืนใหญ่กว่า 4,000 ไร่ นำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินจำนวน 64 ครอบครัว มีการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงหมูควบคู่กับการเพาะปลูก โครงการนี้มีการนำระบบการจัดการครบวงจรมาใช้พัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการจัดที่ดินแบ่งเป็น พื้นที่เพาะปลูก บ้านพักอาศัย โรงเรือนและอุปกรณ์ในการเลี้ยงหมูพันธุ์และหมูขุน พร้อมพันธุ์หมู อาหารสัตว์ วัคซีน และบ่อปลา
พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร บอกว่า ในส่วนของความรู้เทคนิควิชาการสมัยใหม่และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องนั้น เกษตรกรได้รับการสนับสนุนและถ่ายทอดจากเจ้าหน้าที่ซีพีเอฟ ทั้งเรื่องการเลี้ยงหมูในโรงเรือนอีแวปที่ช่วยให้หมูอยู่สบายไม่เครียดและช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรค การใช้ระบบให้อาหารแบบอัตโนมัติ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมเครื่องช่วยผสมเทียมหมูที่เรียกว่า AI-Buddy เพื่อลดการใช้แรงงานคน รวมถึงการเพิ่มส้วมน้ำในหมูขุนที่ช่วยให้เล้าหมูสะอาดลดการใช้แรงงานในการทำความสะอาดและช่วยลดกลิ่นเหม็นในการเลี้ยง ทั้งหมดนี้ทำให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทยังช่วยเหลือด้านการตลาด ด้วยการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดของเกษตรกรในรูปแบบประกันรายได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านการตลาด พร้อมแนะวิธีบริหารการเงินให้ประสบความสำเร็จ จนทำให้โครงการนี้ได้รับคำจำกัดความว่า "หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย"
“ความสำเร็จของโครงการได้ถูกส่งต่อสู่เกษตรกรรุ่นที่ 2 อย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรทุกคนจะส่งเสริมให้ลูกมีส่วนร่วมทั้งในอาชีพของพ่อแม่และกิจกรรมการพัฒนาชุมชนตั้งแต่เด็ก เพราะต้องการให้เด็กๆรู้และเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำ และเห็นคุณค่าของเงินจากการทำงานในฟาร์ม ได้ฝึกความอดทน รู้จักความรับผิดชอบในหน้าที่ เป็นการช่วยปลูกฝังความรักในอาชีพของครอบครัวโดยอัตโนมัติ และยังช่วยปูพื้นฐานให้ลูกหลานได้กลับมาสืบทอดอาชีพพ่อแม่อย่างมั่นใจ” พิเชษฐ์ กล่าว
จากประสบการณ์และความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการ ต่อยอดให้เกิด "โครงการเกษตรสันติราษฎร์" ในปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แตกต่างออกไป ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างรายได้เสริมให้กับตำรวจชั้นผู้น้อยที่รายได้ไม่เพียงพอสำหรับครอบครัว รวมไปถึงความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัวหลังเกษียณอายุราชการ ที่ดินกว่า 230 ไร่ ที่ ต.นาวังหิน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จึงถูกพัฒนาเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมแนวใหม่แห่งแรกของประเทศ ที่สร้างอาชีพให้ตำรวจมีรายได้ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวตำรวจให้ดีขึ้น โดยคัดเลือกตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ 31 ราย เข้าร่วมโครงการนี้
โครงการเกษตรสันติราษฎร์ ยังถูกกำหนดรูปแบบที่แตกต่างให้เป็น "โครงการ 1 หมู่บ้าน 4 ผลิตภัณฑ์" โดยส่งเสริมอาชีพหลัก 3 อาชีพ ได้แก่ การปลูกผักปลอดสาร การเพาะเลี้ยงกบ การเลี้ยงหมู และมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพรอง ทำให้ตำรวจมีอาชีพที่สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยในปี 2560 ภาระการชำระเงินกู้ธนาคารจะสิ้นสุดลง กรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินจะเป็นของสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ และยังมีรายได้จากอาชีพหลักทั้ง 3 อาชีพในรูปของเงินปันผลเดือนละประมาณ 7,000 บาทมาช่วยเสริมเงินเดือน และบริษัทยังคงสนับสนุนการบริหารจัดการฟาร์มหมูแก่สมาชิกต่อไปอีก 5 ปี และสนับสนุนการเลี้ยงกบและปลูกผักต่ออีก 2 ปี เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมที่จะดำเนินอาชีพเกษตรกรรมได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงต่อไป
ร้อยตำรวจตรี เดชอุดม กุญชะโร หนึ่งในสมาชิกโครงการฯ บอกว่า ตนเองและเพื่อนตำรวจที่ร่วมโครงการ ไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ต้องการมีบ้าน มีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็พักอยู่ที่บ้านพักตำรวจมาโดยตลอด หากไม่เข้าร่วมโครงการนี้ก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะมีบ้านมีที่ดินเป็นของตัวเองได้
“เราทุกคนมาจากศูนย์ เมื่อเข้าร่วมโครงการเราได้มีบ้านและที่ดิน มีรายได้เสริมจากการเลี้ยงไก่ชน และอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจฟาร์มหมู ฟาร์มกบ และแปลงผักปลอดสารพิษก็จะเป็นสมบัติร่วมของเราทุกคน” ร้อยตำรวจตรี เดชอุดม กล่าว
โมเดลความสำเร็จของหมู่บ้านเกษตรกรรมทั้ง 3 โครงการ ที่เกิดจากความเข้าใจในการทำปศุสัตว์และงานด้านการเกษตร ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งมีที่มาจากการที่ซีพีและซีพีเอฟถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงสัตว์สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่ไข่ และไก่เนื้อทั่วประเทศอีก 5,000 ราย มากว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2518 วันนี้ทุกคนต่างประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างไร้ความเสี่ยง ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีและซีพีเอฟ ในการพัฒนาภาคเกษตร ด้วยการผลักดันให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
cr. มติชนออนไลน์
Tag:
#Foodsecurity