

ความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเริ่มเห็นผล เมื่อผู้แทนจากหลายองค์กรระดับโลกชื่นชมความคืบหน้า และความพยายามของประเทศไทยในการยกเครื่องอุตสาหกรรมประมง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แม้ว่าจะมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อขจัดการทำประมงผิดกฎหมายให้หมดไปจากน่านน้ำไทย
ในช่วงปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาของไทยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากองค์กรระดับระดับโลกที่รับผิดชอบ เช่น สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการประมงของรัฐสภายุโรป (PECH) มูลนิธิ Environmental Justice Foundation (EJF) และ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งได้แสดงความพึงพอใจในความคืบด้านการแก้ปัญหาของประเทศไทย แม้จะยังต้องปรับปรุงในบางประเด็นด้านการจัดการ และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปลด “ใบเหลือง” จากอียู
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน โดยมีแรงงานทั้งชาวไทย และจากประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป็นจำนวนกว่าสองล้านราย อย่างไรก็ตามภาคการประมงของไทยได้ถูกโจมตีจากหลายองค์กรว่าขาดความโปร่งใส และมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ทำให้ในปี 2558 ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการภาคประมงไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน NGO และชาวประมงรายย่อยต้องหันมาจับมือกัน ปรับปรุงข้อกฎหมายและออกระเบียบเพิ่มเติมให้มีความทันสมัย รวมถึงมีบทลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับมาตรฐานการประมงไทยโดยเฉพาะในด้านแรงงาน ให้ปลอดการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นๆ ทำให้ในปัจจุบันมีการลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายใหม่แล้วกว่า 4,200 กรณี
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ปรับปรุงระบบติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance System) ให้มีความทันสมัย และเปิดใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (Port in - Port out) ในท่าเรือต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น เอกสารสำคัญ ลูกเรือประมง และการติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งเรือ ( Vessel Monitoring System : VMS) ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ)
ซีพีเอฟ เป็นเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของประเทศ และมีตัวแทนจากบริษัททำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (Board of Directors) ของ Seafood Task Force และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อติดตามพฤติกรรมเรือประมง โดยสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมีความสามารถในการพัฒนาระบบติดตามเรือประมง (VMS) ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และปลอดการประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งตั้งเป้าให้คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าธุรกิจปลาป่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งของบริษัท และเป็นวัตถุดิบชนิดเดียวที่เชื่อมโยงธุรกิจของบริษัทกับภาคการประมง ต้องผ่านการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อแรงงานภายในปี 2563
บริษัทได้จัดการฝึกอบรม และให้คำแนะนำแก่คู่ค้า เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าปลาป่นปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืน ทำให้ ปลาป่นทั้งหมดที่บริษัทจัดหาและใช้ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2558 มาจากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO Responsible Sourcing (IFFO RS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาอย่างยั่งยืนในระดับสากลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ถึงเรือประมงที่จับปลา นอกจากนี้บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะเริ่มจัดหาปลาป่นในประเทศเวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ ภายใต้มาตรฐาน IFFO RS Improvers Programme (IFFO RS IP) ภายใน ปี 2562
น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ อธิบายว่า มาตรฐาน IFFO RS เป็นเครื่องยืนยันถึงความยั่งยืน และความโปร่งใสในการจัดหาปลาป่นของบริษัท ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่บริษัทใช้มาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย
“บริษัทมีนโยบายการจัดหาปลาป่นที่มาจากโรงงานแปรรูปปลา (By-Product) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO RS หรือ IFFO RS IP ขณะที่ปลาป่นที่มาจากการจับปลา (By-Catch) จะต้องได้รับรองมาตรฐานสากลหรือสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกตรวจสอบที่มีกฎหมายรองรับเท่านั้น” น.สพ. สุจินต์ กล่าว พร้อมชี้ว่าการรับรองมาตรฐาน IFFO RS จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในระยะยาวอีกด้วย