กรุงเทพฯ ...กันยายน 2561 -- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ คาดธุรกิจกุ้งในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว ย้ำไทยสามารถแก้ปัญหาอาการโรคตายด่วน หรืออีเอ็มเอส (EMS) ได้สำเร็จ เป็นผลจากการปรับปรุงวิธีการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งให้แข็งแรงสามารถต้านทานโรคได้ดีขึ้น
น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์กุ้งไทยในปัจจุบันว่า ผู้เลี้ยงกุ้งเริ่มกลับมาลงลูกกุ้งขาวแวนนาไมแล้ว หลังราคากุ้งภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจัดการปัญหาโรคตายด่วนได้ด้วยหลัก “3 สะอาด” ประสบความสำเร็จ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เลี้ยงกุ้ง
หลัก 3 สะอาด ถูกคิดค้นขึ้นโดยซีพีเอฟ เพื่อจัดการปัญหาโรคตายด่วนซึ่งทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยต้องเสียหายกว่าร้อยละ 40 ในระหว่างปี 2555 – 2559 โดยระบบการเลี้ยงกุ้งตามหลัก 3 สะอาดนั้นให้ความสำคัญกับความสะอาดของลูกกุ้งที่เลี้ยง บ่อกุ้ง และน้ำที่ใช้สำหรับการทำฟาร์มกุ้ง ซึ่งนอกจากหลักการณ์นี้จะสามารถลดอัตราการตายของกุ้งได้แล้ว ยังทำให้กุ้งโตเร็วขึ้น และสร้างผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ถึง 2 เท่า
“ซีพีเอฟได้คิดค้นหลัก 3 สะอาด ซึ่งหมายถึงกุ้งสะอาด บ่อสะอาด และน้ำสะอาดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อในกุ้งอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามการที่ผู้เลี้ยงกุ้งจะสนใจ และนำหลักการณ์นี้มาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางนั้นคงต้องใช้เวลา เพราะมีต้นทุนในการปรับสภาพบ่อ บริษัทจึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เลี้ยงในภาคตะวันออก เช่นจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ น.สพ. สุจินต์ ยังได้กล่าวต่อว่าในปัจจุบันยังไม่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นในธุรกิจกุ้ง ดังนั้นปัญหาของกุ้งไทยจึงเหลือแค่การควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ในปัจจุบันประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นผู้นำในด้านการส่งออกกุ้งกำลังเสียลูกค้าสำคัญให้กับประเทศที่มีต้นทุนการเลี้ยงกุ้งต่ำกว่า หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างๆ อย่างเช่นอินเดีย และเวียตนาม ทำให้ในปีที่ผ่านมา
สถาบันการประมงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Fishery Institute) ประมาณการว่าในปี 2561 กำลังการผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีประมาณ 3.5 ล้านตัน ขณะที่ไทยคาดว่าจะผลิตกุ้งได้เพียง 290,000 ตัน
น.สพ. สุจินต์ แนะว่า ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศไทย ควรใช้ความชำนาญในการผลิตกุ้งตัวใหญ่ให้เป็นประโยชน์ และเน้นการขายสินค้ากุ้งขนาดใหญ่กว่าคู่แข่ง โดย ซีพีเอฟ จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตกุ้งขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจกุ้งของบริษัทในเวียตนามและอินเดีย จะเป็นฐานการผลิตกุ้งที่ตลาดมีความต้องการมาก
ดร. โรบินส์ แมคอินทอช (Dr. Robins McIntosh) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เสริมว่า กุ้งขนาดใหญ่ของซีพีเอฟ เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งของบริษัทอย่างต่อเนื่อง จากการคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งขาวชั้นดีนับสิบรุ่น และเลี้ยงในบ่ออนุบาลที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสูง ทำให้ได้กุ้งที่มีขนาดใหญ่ เติบโตเร็ว และปลอดโรคได้ ในปัจจุบันอัตราการตายด้วยโรคตายด่วนจึงลดจากร้อยละ 40% เหลือเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น นอกจากนี้บริษัทยังมีการตรวจโรคติดต่อในกุ้งก่อนส่งมอบลูกกุ้งปลอดโรคให้กับผู้เลี้ยง ซึ่งปัจจุบันพันธุ์กุ้งของซีพีได้รับการยอมรับจากผู้เลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการส่งออกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กุ้งไปยังประเทศจีน และเวียดนามอีกด้วย