แม้ว่ามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ Animal Welfare หรือหลักสวัสดิภาพสัตว์ จะมีสหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้ริเริ่ม หากแต่ประเทศไทยได้นำมาตรฐานนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ ที่วันนี้ทั่วโลกต่างให้การยอมรับว่าไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้ โดยมีซีพีเอฟเป็นภาคเอกชนไทย บริษัทแรกนอกเขตยุโรป ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Animal Welfare และยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ จัดฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีกเป็นครั้งแรกของโลก ทำให้บุคลากรของซีพีเอฟ สามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำการปฏิบัติงานด้านความเป็นอยู่ของสัตว์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลได้
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่าหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ว่านี้คืออะไร การคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์นี้อียูกำหนดเป็นมาตรการบังคับใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีหลักการเพื่อคุ้มครองสัตว์เลี้ยงทั้งที่นำมาเป็นอาหาร ใช้งาน และเพื่อการวิจัย ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้สุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยถือหลักอิสระ 5 ประการ หรือ 5 Freedoms ประกอบไปด้วย
1. ปราศจากการหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง
2. ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม
3. ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย
4. ปราศจากความกลัวและทุกข์ทรมาน
5. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์
สำหรับประเทศไทย ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ในการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health : OIE) และมาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (อียู) มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมไก่เนื้อมากว่า 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 โดยเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีโรงเรือนปิดที่ทันสมัยด้วยระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือโรงเรือนอีแวป มาใช้เป็นรายแรกของไทย โรงเรือนระบบนี้ สามารถควบคุม ความชื้น อุณหภูมิ การระบายอากาศ ช่วยทำให้ไก่มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ขณะเดียวกัน ยังได้นำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ เช่น อุปกรณ์ให้น้ำและอาหารอัตโนมัติ เพื่อให้ไก่เข้าถึงน้ำและอาหารได้ตลอดเวลา ตามหลักการปราศจากความหิวกระหาย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ซีพีเอฟนำมาปฏิบัติตลอดห่วงโซ่การผลิตสัตว์ปีก นับตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การขนส่ง ตลอดจนการชำแหละและแปรรูป ภายใต้การแนะนำของกรมปศุสัตว์ เริ่มจากการผลิตลูกไก่จากโรงฟักไข่ทันสมัยมีมาตรฐาน ได้ลูกไก่เนื้อที่แข็งแรง สมบูรณ์ ปลอดโรค เข้าเลี้ยงในฟาร์มไก่กระทงที่มีมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ ลูกไก่จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีนับจากวันแรกจนถึงจับออก ด้วยการเลี้ยงในโรงเรือนอีแวป มีระบบจัดการการเลี้ยงในระบบอัตโนมัติคอยดูแล ทั้งอุณหภูมิ ปริมาณอาหาร ปริมาณน้ำให้เหมาะสมตามช่วงอายุ ไก่ได้รับอาหารสัตว์ที่พัฒนาขึ้นตามหลักโภชนาการ รวมทั้งการดูแลสุขภาพสัตว์โดยสัตวแพทย์และสัตวบาล เพื่อให้ไก่เนื้อปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ ความทุกข์ทรมาน และไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก เมื่อไก่ได้อยู่ในโรงเรือนเย็นสบายพื้นที่กว้างขวางสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างอิสระ
การปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ จะทำให้ฝูงไก่อยู่สบายไม่เครียด มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไม่ป่วย เมื่อมีพื้นฐานสุขภาพที่ดีก็ปราศจากโรคภัย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ฮอร์โมน หรือยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในไก่ จึงเป็นการลดความเสี่ยงจากยาปฏิชีวนะตกค้าง เพราะไก่ที่มีสุขภาพดีจะสามารถเติบโตตามศักยภาพของพันธุกรรมธรรมชาติ
เมื่อครบอายุการเลี้ยงไก่เนื้อจะถูกขนส่งไปยังโรงงานแปรรูป โดยคำนึงถึงหลักการของมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีอย่างเคร่งครัด เริ่มจากการจับไก่เนื้อด้วยวิธีการอุ้ม อย่างนุ่มนวล บรรจุลงกล่องที่ออกแบบให้เคลื่อนย้ายไก่เนื้อได้โดยไม่ทำให้ไก่บาดเจ็บ และจำนวนไก่เนื้อแต่ละกล่องเหมาะสมไม่แออัด ซึ่งซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกของไทยที่ใช้ระบบการขนส่งไก่เนื้อแบบโมดูล่า สอดคล้องกับระเบียบสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้เคลื่อนย้ายไก่เนื้อได้อย่างรวดเร็ว นุ่มนวล อากาศไหลเวียนได้ดี เมื่อรถขนส่งมาถึงโรงงาน รถทุกคันต้องจอดในจุดพักรถที่มีระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิตัวไก่ ลดการตื่นตกใจและคลายเครียด ก่อนเคลื่อนย้ายกล่องบรรจุไก่จากรถขนส่งเข้าสู่ระบบสายพานลำเลียง ไปห้องแขวนไก่ ซึ่งต้องทำอย่างนุ่มนวลภายในห้องที่ใช้แสงสีฟ้า และควบคุมความเข้มแสงเพื่อไม่ให้ไก่ตื่นตกใจ จากนั้นจึงผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการเชือดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์และสอดคล้องตามหลักฮาลาล ซึ่งไก่ทุกตัวต้องปลอดจากการทรมานและมีความเครียดน้อยที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป
นอกจากทุกกระบวนการผลิตไก่ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวแล้ว ด้วยนโยบายที่ต้องก้าวนำมาตรฐานเสมอ ซีพีเอฟ จึงร่วมกับ Animal Welfare Professional Training หรือ AWT แห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นด้านการวิจัย การสอน และการฝึกอบรมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มจากองค์กรสวัสดิภาพสัตว์แห่งแรกของโลก โดยได้เปิดหลักสูตรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีกเฉพาะสำหรับซีพีเอฟ Train the Trainer ถือเป็นแห่งแรกของโลก มาตั้งแต่ปี 2554 หลักสูตรดังกล่าวทำให้บุคลากรของซีพีเอฟ สามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำการปฏิบัติงานด้านความเป็นอยู่ของสัตว์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ดูแลกระบวนการผลิต และมีการอบรมเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ (Poultry Welfare Officer : PWO) ประจำทุกหน่วยงาน เพื่อดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์และข้อกำหนดของอียู
ขณะเดียวกันองค์ความรู้ทั้งหมดนี้ ถูกส่งต่อไปยังสัตวบาลผู้ดูแลฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของบริษัท โดยทุกคนผ่านการอบรมหลักสูตร PWO จากผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีกของบริษัทและจาก AWT จากนั้นสัตวบาลจะนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ในโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัท เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักการได้อย่างถูกต้องต่อไป
การเคารพและถือปฏิบัติตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์อย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับผู้ผลิตในอียู ส่งผลให้ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกนอกเขตยุโรปที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี และความสำเร็จดังกล่าวของไก่เนื้อได้ถูกต่อยอดสู่ฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ของซีพีเอฟ ที่นอกจากจะเป็นฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามมาตรฐานกรีนฟาร์มแล้ว ยังนำระบบการเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรแบบคอกขังรวมควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่สามารถควบคุมการให้อาหารแม่พันธุ์อย่างเพียงพอต่อความต้องการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ซองเช่นเดิม ซึ่งวิธีการนี้ช่วยให้แม่พันธุ์ไม่เครียด สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ตลอดจนมีภูมิต้านทานที่ดี
การปฏิบัติตามแนวทางของสวัสดิภาพสัตว์ที่ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการอยู่นี้ ถือเป็นการสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรมไก่เนื้อและการเลี้ยงหมูของไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับสากล ทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารปลอดภัย (food safety) ได้อย่างแท้จริง
**********************
โดย น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล
รองกรรมการผู้จัดการด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีกและผู้เชี่ยวชาญสวัสดิภาพสัตว์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)