ปัจจุบันมีการนำระบบ "โปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง" มาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ตัวอย่าง ฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมครบวงจร ระบบโปรไบโอติก ของเจริญชัยสตาร์ฟีดฟาร์ม ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
การเลี้ยงปลาในกระชังในแหล่งน้ำ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ที่ผ่านมา การเลี้ยงปลาในกระชังก็สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนริมน้ำอยู่ไม่น้อย ทั้งปัญหาคุณภาพน้ำและปัญหาสารเคมีที่เกิดจากยารักษาโรคปลาปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
ปัจจุบันมีการนำระบบ “โปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง” มาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ตัวอย่าง ฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมครบวงจร ระบบโปรไบโอติก ของเจริญชัยสตาร์ฟีดฟาร์ม ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ถือเป็น โปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง แห่งแรก โดยได้รับการส่งเสริมด้านองค์ความรู้และเทค โนโลยีจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
การเลี้ยงปลาแบบโปรไบโอติก เป็นการเลี้ยงปลาโดยใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ เพื่อไปช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เป็นโทษต่อปลาให้ลดลง ช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมของน้ำให้มีสภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ จุลินทรีย์ยังช่วยให้เกิดความสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของปลา พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ จะเข้าไปช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ดี ส่งผลให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง เติบโตได้ดีและสามารถต้านทานเชื้อโรคได้ดี เมื่อปลามีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค หรือสารเคมีใด ๆ เนื้อปลาที่ได้ก็จะมีคุณภาพดี ไม่มีสารตกค้าง หรือเชื้อปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำอีกด้วย
นายเสรี พีระณรงค์ เจ้าของเจริญชัย สตาร์ฟีดฟาร์ม กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงปลาแบบโปรไบโอติกมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 โดยจะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติไว้ โดยใช้เพียงจุลินทรีย์ผสมอาหารให้กับปลาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งได้รับคำแนะนำทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ มีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำทั้งจากกรมเจ้าท่าและกรมประมงเป็นระยะ
สำหรับปลาที่ตายในระหว่างการเลี้ยง จะไม่มีการทิ้งในแหล่งน้ำ ฟาร์มแห่งนี้จะนำไปหมักกับจุลินทรีย์ในถังหมัก เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพและนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ เพื่อใช้ปลูกผักปลอดสารพิษต่อไป.
ขอบคุณที่มา เดลินิวส์ออนไลน์