ทำไมเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาทับทิมเพศผู้
โดย วงศ์อร อร่ามกูล
ปัจจุบันยังคงมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่า ปลาทับทิมเป็นหมันใช่หรือไม่ ทำไมจึงขยายพันธุ์ไม่ได้ .... คำตอบของคำถามนี้ก็คงหาได้ไม่ยาก เพราะปลาทับทิมส่วนใหญ๋ในท้องตลาดจะเป็นปลาเพศผู้เป็นหลัก ปลาเพศผู้ตั้งท้องไม่ได้ เช่นเดียวกับมนุษย์เพศชาย ขณะที่ ปลาทับทิมเพศเมีย ก็มี ซึ่งสามารถตั้งท้องและให้ลูกได้ตามปกติเหมือนสัตว์เพศเมียทั่วไป ซึ่งก็แปลความหมายได้ว่า ปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน สำหรับเหตุผลที่ท้องตลาดมีปลาเพศผู้เป็นหลัก เพราะเกษตรกรเลือกที่จะเพาะเลี้ยงปลาทับทิมเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากให้ผลในเชิงรายได้ที่มากกว่าอย่างชัดเจน เพราะโครงสร้างของปลาเพศผู้มีความใหญ่โตและแข็งแรงกว่าเพศเมีย ปลาทับทิมเพศผู้ โตเต็มที่อาจได้ขนาดถึง 1-1.2 กิโลกรัมต่อตัวขณะที่เพศเมียเลี้ยงได้โตเต็มที่ อาจมีขนาดได้เพียง 5-6 ขีดเท่านั้น
ธรรมชาติของปลาทับทิมเพศผู้ก็คือ ผสมพันธุ์ตลอดเวลาแทบไม่มีว่างเว้น เมื่อใดที่เห็นเพศเมียก็เป็นอันต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ไม่สนใจที่จะกินอาหาร ขณะที่เพศเมียก็จะต้องอุ้มท้องอยู่ตลอดเวลาแทบไม่ว่างเว้นเช่นกัน การอุ้มท้องของปลาเพศเมีย จะมีลักษณะตามธรรมชาติคือแม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก ทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ในระหว่างการดูแลไข่และลูกปลาวัยอ่อน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปลาตัวเมียไม่กินอาหารและไม่เติบโตเท่าที่ควร เมื่อปลาตัวเมียออกลูกบ่อย ก็จะเป็นปัญหาจากการเลี้ยงปลาแบบรวมเพศ เพราะจะทำให้เกิดจำนวนลูกปลาแน่นบ่อ ปลาที่เลี้ยงทั้งหมดจะเติบโตได้ไม่เต็มที่
เมื่อเกษตรกรตัดสินใจที่จะเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพ หารายได้เลี้ยงครอบครัว พวกเขาจะต้องค้นหาว่าประสิทธิภาพการผลิตปลาที่จะนำมาซึ่งรายได้สูงสุดนั้นต้องทำเช่นไร ยิ่งได้ศึกษาถึงธรรมชาติของปลาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าการเลี้ยงปลาคละกันทั้งเพศผู้และเพศเมีย จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีประสิทธิภาพต่ำ ขณะเดียวกันก็รู้ว่าปลาตัวผู้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกษตรกรเลือกเลี้ยงปลาทับทิมเพศผู้เป็นหลัก ส่วนปลาเพศเมีย ก็สามารถแยกนำไปเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติได้ต่อไป ปลาทับทิมจึงไม่ได้เป็นหมัน เพียงแต่ปลาส่วนใหญ่ (95%) เป็นเพศผู้เท่านั้น ข้อสงสัยที่ว่าปลาทับทิมเป็นหมันจึงควรตกไปได้แล้ว
อ้างอิง : ฐานเศรษฐกิจออนไลน์