การเลี้ยงปลาในกระชังตามแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น แม้จะให้ผลผลิตที่ดีและรายได้ที่งดงามต่อผู้เลี้ยง หากแต่ก็มีปัญหาหลากหลายที่เกษตรกรต้องเผชิญ ตั้งแต่ปัญหาน้ำแล้งหรือน้ำหลากที่เกินการควบคุม รวมถึงโรคปลาที่อาจติดมากับน้ำที่อาจสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร การเลี้ยงปลาในปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้มากขึ้นและเป็นที่แพร่หลาย
หนึ่งในผู้นำการค้นหาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่คิดหาทางออกให้กับเกษตรกรด้วยการแนะนำวิธีเลี้ยงปลากระชังในบ่อดิน โดยเรียกวิธีเลี้ยงแบบนี้ว่า "ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม" ที่ได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาในบ่อดินบนบกแทนที่จะเลี้ยงในแม่น้ำ โดยนำต้นแบบมาจากการเลี้ยงกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคและภัยธรรมชาติ เพราะสามารถควบคุมหลากหลายปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงปลาในกระชัง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติออกไปได้ทั้งหมด และยังเป็นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ โดยมีโปรแกรมการเลี้ยงและการจัดการระบบน้ำตามมาตรฐานของซีพีเอฟ โดยระบบนี้จะกำหนดพื้นที่ของฟาร์มว่าต้องมีที่รองรับน้ำเพื่อบำบัดในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30-50% ของพื้นที่เลี้ยงทั้งหมด และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็จะถูกนำกลับมาใช้หมุนเวียนใหม่ โดยใช้น้ำใหม่เข้ามาเติมอีกเพียงประมาณ 20-30% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่เพียงเป็นการลดการใช้ทรัพยากรน้ำในธรรมชาติ ยังเป็นการลดโอกาสการนำเชื้อโรคจากธรรมชาติเข้าสู่ฟาร์มด้วย
สำหรับรายละเอียดของ “ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม” นั้น อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เล่าว่า มีสิ่งที่จำเป็นต้องมีและต้องทำให้ครบถ้วนรอบด้าน ประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 4 ประการ ที่จำเป็นต้องมีและทำให้ครบถ้วนรอบด้าน ได้แก่
1.การเลือกใช้ลูกปลา (Seed) สายพันธุ์ดี มีคุณภาพ มีอัตราการเจริญเติบโตดีเยี่ยม มีความต้านทานต่อโรค อัตรารอดสูง
2.การเลือกใช้อาหาร (Feed) ที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับปลา เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของปลาได้อย่างเต็มที่
3.ระบบการป้องกันโรค (Biosecurity System) ระบบที่ป้องกันโรคได้จริงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
4.การจัดการฟาร์ม (Farm Management) ระบบการจัดการที่คำนึงถึงในหลายๆ ด้าน เพื่อให้ปลามีความเป็นอยู่ที่ดี โตเร็ว แข็งแรง
นอกจากการพัฒนาระบบการเลี้ยงด้วยการยกกระชังปลาขึ้นบกแล้ว ซีพีเอฟยังได้นำเทคโนโลยีการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลี้ยงแบบโปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง (Probiotic Farming) ซึ่งเกิดจากแนวคิดในการผลิตสัตว์น้ำปลอดสาร เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย อาศัยหลักการที่ว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา” ด้วยการจัดการภายในบ่อเลี้ยงให้ดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัวต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำ ทำให้แข็งแรงและมีภูมิต้านทานป้องกันตัวเองได้ ซีพีเอฟจึงค้นคว้าและพัฒนาโปรแกรมการเลี้ยงกุ้งด้วย “โปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง” และแนวคิดนี้เริ่มต้นใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทเมื่อปี 2544 ขณะเดียวกันก็ได้นำมาต่อยอดในการเลี้ยงปลาในบ่อดินด้วย
อดิศร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โปรแกรมการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบ “โปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง” เป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่เน้นการทำให้สภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงมีสภาพดี โดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ จากธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ และไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จุลินทรีย์ไปช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์และย่อยแก๊สที่เป็นโทษต่างๆ เช่น แก๊สแอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟ ที่พื้นก้นบ่อ และกำจัดพาหะของเชื้อไวรัสต่างๆ โดยจะใช้ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมบ่อเรื่อยไปจนกระทั่งจับขาย นอกจากนี้ จุลินทรีย์จะทำให้เกิดสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของปลา ด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น และลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในบ่อเลี้ยง ที่สำคัญยังช่วยให้คุณภาพน้ำที่เลี้ยงปลาดีสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมปริมาณของแพลงตอนที่ก่อให้เกิด กลิ่นโคลนในเนื้อปลา ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นโคลน และยังช่วยลดการใช้สารเคมีในการเลี้ยงเนื่องจากปลามีสุขภาพดี จึงถือเป็นการลดต้นทุนไปในตัว ขณะเดียวกัน การคอยปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในน้ำให้คงที่ ก็จะทำให้สัตว์น้ำอยู่สบายและมีความต้านทานต่อโรคเพิ่มขึ้นด้วย
“การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบโปรไบโอติกจะช่วยควบคุมสภาพธรรมชาติในบ่อเลี้ยงให้เกิดความสมดุล ทำให้ปลาและกุ้งที่เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง ได้ปลาทับทิมเนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นคาว-กลิ่นโคลน ส่วนกุ้งที่เลี้ยงก็โตดี ผลผลิตปลาและกุ้งที่ได้จึงมีคุณภาพและปลอดภัย ไม่มีสารตกค้างหรือเชื้อปนเปื้อน และไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะต่อการบริโภค ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ” อดิศร์ กล่าว
เมื่อสามารถควบคุมได้ทั้งน้ำและโรคแล้ว การเลี้ยงก็สามารถทำได้ต่อเนื่องทั้งปี มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้สม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็สร้างงานต่อเนื่องตั้งแต่การขนส่งไปจนถึงการขายปลีกให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากจำนวนร้านค้าปลาย่างที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งบางพื้นที่ในจังหวัดที่ห่างไกล
อดิศร์ ยังเล่าถึงการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องของซีพีเอฟว่า บริษัทได้คิดค้นการเลี้ยงสัตว์น้ำรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ระบบโคคัลเจอร์ : Co-Culture” ด้วยการเลี้ยงปลาทับทิม กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม ในบ่อเดียวกัน วิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 3 ชนิดรวมกันนี้บริษัทได้ส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินการด้วย เนื่องจากกระบวนการเลี้ยงปลากระชังสามารถสร้างสภาพนิเวศน์ที่ดี และเอื้อต่อการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามกับกุ้งขาว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง
“การเลี้ยงเช่นนี้เป็นการนำธรรมชาติของสัตว์น้ำทั้งหมดมาช่วยเอื้อประโยชน์และส่งเสริมกัน ส่งผลต่อผลผลิตสัตว์น้ำที่ดีขึ้นและสม่ำเสมอตามไปด้วย ที่สำคัญคือช่วยทำให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น” อดิศร์ กล่าวถึงข้อดีของระบบ Co-Culture
การเลี้ยงที่เกื้อกูลกันนี้ อย่างเช่น การเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังต้องใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน ในน้ำ ช่วยให้คุณภาพน้ำในบ่อดีขึ้น ไม่เพียงปลาที่ได้รับประโยชน์ กุ้งทั้ง 2 ชนิด ซึ่งอาศัยอยู่ใต้บ่อ ก็ได้ประโยชน์จากเครื่องตีน้ำด้วย ทำให้กุ้งมีสุขภาพดี การเจริญเติบโตดียิ่งขึ้น สุดท้ายก็จะได้กุ้งคุณภาพสู่ตลาด
อดิศร์ บอกอีกว่า วิธีการเลี้ยงระบบนี้ ถือเป็นการใช้พื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังแขวนในบ่อนั้นจะเหลือพื้นที่บริเวณพื้นบ่อสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ เมื่อเลี้ยงกุ้งร่วมด้วยก็เท่ากับได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เลี้ยงอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ โดยปกติกุ้งก้ามกรามจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นบ่อ หรือที่เรียกว่า เป็นสัตว์ที่ยึดพื้นที่อยู่อาศัย ส่วนกุ้งขาวเป็นกุ้งประเภทล่องลอยในมวลน้ำคืออาศัยอยู่บริเวณกลางน้ำ สำหรับปลาทับทิมจะเลี้ยงในกระชัง ซึ่งจะใช้พื้นที่ครึ่งบนของความลึกของน้ำเป็นส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการใช้พื้นที่และทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สัตว์น้ำแต่ละชนิดยังเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อาทิ ปลาทับทิมสัตว์ประเภทกรองกินแพลงค์ตอนบางส่วนเป็นอาหาร เท่ากับช่วยควบคุมปริมาณแพลงตอนในน้ำให้กับกุ้มก้ามกราม ซึ่งถ้าเป็นการเลี้ยงเฉพาะกุ้งอาจพบปัญหาการเพิ่มปริมาณของแพลงค์ตอนจนหนาแน่นได้
อีกหนึ่งข้อดีสำหรับการเลี้ยงแบบนี้คือ โดยปกติเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องคอยตรวจสอบการกินอาหารของกุ้งด้วยวิธีการยกยอ เพื่อดูว่ากุ้งกินอาหารมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงที่อาจกระทบการกินของกุ้ง เพราะหากมีอาหารเหลือที่พื้นบ่อ จะทำให้แอมโมเนียสูง แพลงค์ตอนจะเติบโตเร็วและปลาจะกินอาหารน้อยลง แต่เมื่อเลี้ยงร่วมกับปลาทับทิมซึ่งกินอาหารประเภทอาหารเม็ดลอยน้ำ เกษตรกรสามารถพิจารณาได้ว่ากุ้งกินอาหารหรือไม่ โดยดูจากการอัตราการกินอาหารของปลา ควบคู่กับการเช็คยอ ทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดการให้อาหารที่เหมาะสมได้มากขึ้น
สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 3 ชนิดในบ่อดินนี้ เกษตรกรจะใช้วิธีขุดบ่อให้ลึก มีระดับน้ำไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยใช้กระชังลอยสำหรับเลี้ยงปลาทับทิมสูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ในแต่ละบ่อจะปล่อยปลา 3 รุ่น ระยะห่างของการปล่อยแต่ละรุ่นคือ 3 เดือน เพื่อให้สามารถจับปลาขายได้ต่อเนื่องตลอดปี ส่วนกุ้งจะไม่จับขายทีเดียวหมดบ่อ จะใช้วิธีดักขึ้นมาขายไปเรื่อยๆ
อดิศร์ สรุปข้อดีของการเลี้ยงปลาทับทิมกระชังในบ่อดินเปรียบเทียบกับการเลี้ยงกระชังในแม่น้ำว่า รอบการเลี้ยง การเลี้ยงปลาทับทิมกระชังในบ่อดิน มีรอบการเลี้ยง 3 รุ่นต่อปี (ระยะการเลี้ยง 3-4 เดือน/รุ่น)
ดีกว่าการเลี้ยงปลาทับทิมกระชังในแม่น้ำ มีรอบการเลี้ยง 2 รุ่นต่อปี (ระยะการเลี้ยง 4-5 เดือน/รุ่น) ขณะเดียวกันอัตราการรอดของปลากระชังในบ่อดิน ก็ดีกว่าอยู่ที่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลากระชังในแม่น้ำ มีอัตรารอดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ต้นทุนต่อกิโลกรัมของการเลี้ยงปลาทับทิมกระชังในบ่อดิน ยังต่ำกว่าการเลี้ยงกระชังในแม่น้ำ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปลาโตเร็วกว่า แข็งแรงกว่า มีอัตรารอดสูงกว่า ส่วนการเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 ชนิดในระบบโคคัลเจอร์ นอกจากจะได้ผลผลิตปลาทับแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้จากผลผลิตกุ้งขาว 300 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตกุ้งก้ามกรามอีก 200 กิโลกรัมต่อไร่
ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหมดที่ซีพีเอฟพัฒนาขึ้นนี้ นับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ก่อเกิดประสิทธิภาพการเลี้ยงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำมีคุณภาพ ช่วยผลักดันความสำเร็จแก่เกษตรกรไทย ที่สำคัญผู้บริโภคยังได้บริโภคอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง./