ปัจจุบันกระแสตื่นตัวเรื่องการประหยัดพลังงานกำลังมาแรง การดำเนินธุรกิจก็เช่นกัน หากสามารถลดการใช้พลังงานในการดำเนินธุรกิจได้ ย่อมเท่ากับเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต และยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย...ความสำเร็จกับสายธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟ ที่แก้ไขปัญนี้อย่างชัดเจน วันนี้จะพาเดินทางไปพร้อมกันที่ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งในระบบโรงเรือนปิดครบวงจร โครงการร้อยเพชร จ.ตราด ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งหนาแน่นสูงในโรงเรือนปิดด้วยระบบน้ำหมุนเวียน แห่งแรกและแห่งเดียวของไทยอีกเลยทีเดียว
จุดเด่นและแตกต่างของฟาร์มกุ้งร้อยเพชร ซีพีเอฟ
คุณสุจิตร แก้วฉ่ำ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ บอกว่า จุดเด่นคือเรื่องการประหยัดพลังงาน ฟาร์มเราได้พัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเล ให้มีผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีการจัดการผลผลิตกุ้งสดเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า ที่สำคัญฟาร์มเลี้ยงกุ้งแห่งนี้ใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติอย่าง “แรงโน้มถ่วงของโลก” ในการย้ายกุ้งจากบ่อหนึ่งไปยังอีกบ่อหนึ่ง ด้วยหลักการที่ว่า “น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก” ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากน้ำมันหรือพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมอเตอร์ของปั๊มสำหรับการย้ายกุ้งเลย
ระบบการเลี้ยงตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ
“เราใช้ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน สามารถเลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปีด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งบริษัทได้เปลี่ยนแปลงรุปแบบการเลี้ยงกุ้งใหม่ โดยออกแบบพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ให้มีบ่อต่างขนาดกันตอนปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงใหม่ๆ ตัวยังเล็ก ไม่ต้องการพื้นที่มาก ขนาดบ่อก็ไม่ต้องใหญ่นัก เมื่อกุ้งตัวโตขึ้น ต้องการพื้นที่กว้างขึ้นก็ย้ายไปบ่อที่กว้างกว่าเดิม แต่ละบ่อออกแบบให้จัดวางต่อเนื่อง ในระดับความสูงพื้นบ่อที่ลดหลั่นกันลงไป ซึ่งวิธีนี้เมื่อกุ้งโตได้ขนาดที่ต้องย้ายบ่อเลี้ยง ก็เพียงเปิดให้น้ำจากบ่อที่อยู่สูงกว่า ไหลลงไปยังบ่อถัดไปที่อยู่ต่ำกว่า กุ้งทั้งหมดก็จะไหลตามลงไปด้วย หลักการง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยพลังงานอย่างอื่นให้สิ้นเปลือง สามารถเลี้ยงกุ้งแบบต่อเนื่อง 3 รุ่น ในโรงเรือนปิดต่างระดับ การเลี้ยงตั้งแต่ลูกกุ้งจนถึงกุ้งขนาดใหญ่พร้อมจับขายภายในโรงเรือนเดียวกัน ทำให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายที่สำคัญปราศจากการติดโรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง เรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยงแบบยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารสากล” คุณสุจิตร บอก
ระบบการเลี้ยงแบบหนาแน่นสูง...จุได้ขนาดไหน
คุณสุจิตร เล่าว่า เริ่มแรกจากระดับที่ 1 บ่ออนุบาล โดยลูกกุ้งขาวซีพี ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นอย่างดีจะถูกนำมาอนุบาลในระบบโรงเรือนปิด ที่ความหนาแน่น 2,500 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร จนกระทั่งลูกกุ้งอายุครบ 20 วัน จะย้ายจากบ่ออนุบาลผ่านระบบท่อที่เชื่อมต่อไปยังระดับที่ 2 คือ บ่อกุ้งรุ่นโดยอาศัยระดับที่ต่างกันของบ่อเลี้ยงแทนการใช้พลังงาน กุ้งขาวซีพีจะถูกเลี้ยงในบ่อกุ้งรุ่นนี้ ที่ความหนาแน่น 650 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องอีก 40 วัน ก่อนจะย้ายกุ้งรุ่นไปยังระดับที่ 3 ทีบ่อขุน ด้วยระบบต่างระดับเช่นกัน โดยเลี้ยงที่ความหนาแน่น 300 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องอีก 40 วัน เมื่อเลี้ยงครบ 100 วัน กุ้งขาวซีพีจะโตได้ขนาด พร้อมที่จะจับออกผ่านระบบท่อต่างระดับที่เชื่อมต่อไปยังบ่อจับออก เวลาเลี้ยงรวมเท่ากับ 100 วัน แต่ด้วยเทคโนโลยีแยกบ่อเลี้ยงพร้อมกัน 3 รุ่น จึงมีกุ้งลงเลี้ยงทดแทนในบ่อทุกระดับต่อเนื่องตลอดเวลา และจับออกได้ทุกๆ 40 วัน ส่งผลให้ใน 1 ปี สามารถเลี้ยงกุ้งขาวซีพีต่อเนื่องได้ถึง 7 รุ่น ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่าไร่ละ 60 ตันต่อปี ขณะที่รูปแบบเดิมเลี้ยงได้เพียงปีละ 2-3 รุ่น
โรค EMS มีผลกระทบต่อระบบการเลี้ยงมากน้อยเพียงใด
คุณสุจิตร เล่าถึงประเด็นนี้ว่า เนื่องจากการจัดการของเราเป็นระบบสุขาภิบาลฟาร์ม หรือ Biosecure system จัดการการเลี้ยงภายใต้สภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ พัฒนาโปรแกรมการเลี้ยงอัตโนมัติโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องให้อาหาร เครื่องเติมออกซิเจน พัดลมระบายอากาศ ทำให้สามารถจัดการน้ำในบ่อเลี้ยงให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอที่ 29–31 องศาเซลเซียส จึงสามารถเลี้ยงกุ้งได้ทุกฤดูกาลแม้สภาพแวดล้อมภายนอกผันแปร อีกทั้งบริษัททุ่มเทค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างต่อเนื่องครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์กระทั่งได้กุ้งทะเลสายพันธุ์ใหม่ คือ “กุ้งขาวซีพีเอฟ” ที่มีจุดเด่นคือสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ให้เป็นกุ้งปลอดโรค คัดเลือกให้มีความทนทานต่อโรคบางชนิดสูงนำมาเพาะขยายพันธุ์ภายในโรงเพาะฟักมาตรฐานสูง จึงมั่นใจได้ว่ากุ้งขาวที่ปราศจากโรค แข็งแรง มีความทนทาน ต่อโรคและอัตรารอดสูง สามารถเพาะขยายพันธุ์เชิงพาณิชย์ได้ดี และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
เรียกว่าประสบความสำเร็จไปอีกกับธุรกิจสัตว์น้ำไปอีกขั้นและมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยมาตรฐานสากล แก่ผู้บริโภค ซึ่งฟาร์มร้อยเพชรแห่งนี้มีเนื้อที่ 3,000 ไร่ แบ่งพื้นที่ฟาร์มออกเป็นสองเฟส โดยเฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 1,400 ไร่ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นระบบโรงเรือนปิดครบวงจรและให้ผลผลิตแล้ว 3,000 ตันต่อปี ส่วนเฟสที่สองเนื้อที่ 1,500 ไร่ ขณะนี้งานก่อสร้างรากฐานเดินหน้าไปกว่า 60% แล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 แต่ในเบื้องต้นจะดำเนินฟาร์มส่วนนี้จะเป็นการเลี้ยงระบบเปิดก่อน และจะดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังเพื่อมุ่งสู่ Kichen of the World อย่างแท้จริง./