หลักการ
ในการประกอบกิจการของบริษัท มีผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม กล่าวคือ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ รวมทั้งชุมชนและสังคม ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มจะต้องได้รับการดูแลจากบริษัทตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายและตามข้อตกลงที่มีอยู่กับบริษัทอย่างเป็นธรรม และในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทจะให้การเยียวยาที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้
แนวปฏิบัติ
1.จัดให้มีมาตรการชดเชยในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทละเมิดสิทธิตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้เสีย
2.เปิดโอกาสให้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำความผิดกฎหมาย หรือจรรยาบรรณ ผ่านกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ และจัดให้มีมาตรการในการปกป้องพนักงานหรือผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด โดยผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนสามารถติดต่อกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบได้โดยกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนในเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.cpfworldwide.com หรือส่งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยัง
ที่อยู่ : 1, 1/1 ซอยเย็นจิต 2 แยก 1 อาคารทรัพย์สมุทร 2 ชั้น 4 ถนนเย็นจิต แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
อีเมล : iaoffice@cpf.co.th
ที่อยู่ : 1, 1/1 ซอยเย็นจิต 2 แยก 1 อาคารทรัพย์สมุทร 2 ชั้น 4 ถนนเย็นจิต แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
อีเมล : iaoffice@cpf.co.th
3.จัดให้มีกระบวนการดำเนินการหลังจากได้รับแจ้งเบาะแส โดยให้มีการตรวจสอบข้อมูล และมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
4.จัดให้มีช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในการแจ้งหรือร้องเรียนกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ พร้อมให้ข้อมูลในการติดต่อผู้ที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน
5.กำหนดนโยบายว่าด้วยการไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
6.กำหนดนโยบายว่าด้วยการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
7.กำหนดนโยบายว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและห้ามจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท และในกระบวนการประเมินความเสี่ยงของบริษัทให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงในเรื่องนี้ไว้ด้วย
8.ส่งเสริมการสื่อสารและเสริมสร้างให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทสะท้อนอยู่ในการตัดสินใจและในการดำเนินงานของบุคลากรทุกระดับ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มจะได้รับการดูแลตามสิทธิและข้อตกลงที่มีอยู่กับบริษัทอย่างเป็นธรรม คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ดังนี้
บทบาทต่อผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัทเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในการกำกับดูแลฝ่ายจัดการให้บริหารกิจการเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนและความพึงพอใจสูงสุด โดยคำนึงถึงมูลค่าและความเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ ดังนี้
-จัดให้มีกระบวนการสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีความรู้ความสามารถ เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
-จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ โปร่งใส และเชื่อถือได้ ต่อผู้ถือหุ้นเพื่อประกอบการลงทุน ทั้งรายงานทางด้านการเงิน และในเรื่องอื่นๆ โดยมอบหมายให้สำนักลงทุนสัมพันธ์และสำนักเลขานุการบริษัท เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัท
บทบาทต่อพนักงาน
พนักงานของบริษัททุกคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำคัญยิ่ง และเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดแนวปฏิบัติต่อพนักงานไว้ ดังนี้
-กำหนดนโยบายว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งครอบคลุมการบริหารงานบุคคล และการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม เสมอภาค สุภาพ ให้เกียรติ และให้โอกาสในการทำงานแก่พนักงานทุกระดับ รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน ในการนี้ บริษัทได้จัดให้มีช่องทางการสื่อสารระหว่างประธานคณะผู้บริหารกับพนักงานผ่านระบบ Intranet เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับประธานคณะผู้บริหารในการสื่อสารนโยบาย วิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรไปยังพนักงาน และในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางสำหรับพนักงานในการส่งข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อร้องเรียนผ่านไปยังประธานคณะผู้บริหารได้โดยตรงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งเป็นการทั่วไป
-กำหนดนโยบายว่าด้วยความปลอดภัย และสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน
-กำหนดนโยบายว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรของบริษัท เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ รวมถึงความสามารถในการทำงานของพนักงานให้พร้อมที่จะรองรับการเติบโตขององค์กร
-กำหนดนโยบายว่าด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงาน โดยมีหลักการพื้นฐานว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่กำหนดขึ้นนั้นต้องมีเหมาะสม และเทียบเคียงได้กับผู้ประกอบการอื่นในประเทศซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และต้องเชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงานของพนักงานรายบุคคลซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว
-จัดให้มีระเบียบว่าด้วยจริยธรรมสำหรับพนักงาน ซึ่งส่วนหนึ่งของระเบียบดังกล่าวมีข้อห้ามมิให้พนักงานให้หรือรับสินบนหรือสิ่งจูงใจในรูปแบบใดๆ โดยมุ่งหวังที่จะให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท หรือก่อให้เกิดการผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานตามคุณค่าที่บริษัทมุ่งหวัง รวมถึงจรรยาบรรณและภาระความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้างมาตรฐานด้านพฤติกรรมการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานให้อยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ในการนี้ พนักงานทุกคนจะต้องลงนามเพื่อรับทราบและให้คำมั่นว่าจะยึดถึอหลักการในจริยธรรมดังกล่าวเป็นหลักปฏิบัติในการทำงาน
-ให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของพนักงานทุกคน และจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานไว้เป็นความลับ โดยกำหนดตัวบุคคลที่ได้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นการเฉพาะตามความจำเป็นและสมควร
-จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัทได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับลูกจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับลูกจ้าง
บทบาทต่อลูกค้า
คณะกรรมการบริษัทถือว่าความพึงพอใจสูงสุดและความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัทเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงกำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อลูกค้า ดังนี้
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลในเรื่องกระบวนการผลิตและการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้า รวมถึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ทันสมัยอยู่เสมอ
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับลูกค้าอย่างเคร่งครัด และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เอาใจใส่และสม่ำเสมอ
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า เสมือนเป็นความลับของบริษัท
-จัดตั้งศูนย์รับเรื่อง (Call Center) เพื่อรับข้อคิดเห็นรวมทั้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าของบริษัท ซึ่งเมื่อได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบและให้การแก้ไขเยียวยาอย่างเร่งด่วน
บทบาทต่อคู่ค้า
คู่ค้าถือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัท คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกรายด้วยความเสมอภาคและยุติธรรม ดังนี้
-จัดให้มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อ / จัดจ้าง โดยในการคัดเลือกผู้ขาย คู่สัญญา หรือที่ปรึกษา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการว่าบริษัทต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้กระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ปราศจากอคติ สามารถตรวจสอบได้ และห้ามมิให้พนักงานรับผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกโดยเด็ดขาด
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลมิให้มีการนำข้อมูลความลับของคู่ค้าไปเปิดเผยหรือนำไปใช้เพื่อดำเนินธุรกิจโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
บทบาทต่อคู่แข่งทางการค้า
การแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎกติกาและจริยธรรม ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อคู่แข่งทางการค้า ดังนี้
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลมิให้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาหรือใช้ข้อมูลความลับทางการค้าของคู่แข่งทางการค้าโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
-ไม่กระทำโดยเจตนาเพื่อทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสีย
-ไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบคู่แข่งทางการค้าโดยวิธีการที่ไม่สุจริต
บทบาทต่อเจ้าหนี้
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ ดังนี้
-จัดให้มีระบบการควบคุมดูแลการปฏิบัติตามข้อผูกพันที่มีต่อเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงชื่อเสียงของบริษัทเป็นสำคัญ
-จัดให้มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้า เช่น การค้ำประกัน และการปฏิบัติกรณีผิดนัดชำระหนี้ไว้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม
บทบาทต่อชุมชนและสังคม
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ดังนี้
-ให้ยึดมั่นในการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบทั้งต่อท้องถิ่น ประเทศชาติ และสังคมโลก ในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและสังคม
-ให้มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการและเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดมลภาวะซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อม
-ให้ความสำคัญในกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง พนักงานมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง โดยถือเป็นสิทธิส่วนตัว แต่ห้ามมิให้พนักงานใช้สิทธิหรือสนับสนุนทางการเมืองในนามของบริษัท
-สนับสนุนการจัดกิจกรรมหรือเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน
-กำหนดนโยบายว่าด้วยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม
-กำหนดนโยบายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
นโยบายกำกับดูแลกิจการอื่นๆ