คณะกรรมการบริหาร
อำนาจของคณะกรรมการบริหาร
คณะกรรมการบริหารมีอำนาจอนุมัติดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การตั้งบริษัทย่อยใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 800 ล้านบาท
(2) การเข้าซื้อกิจการโดยซีพีเอฟหรือบริษัทย่อย
(ก) การซื้อหรือได้มาซึ่งเงินลงทุนในหุ้นหรือส่วนของทุนของนิติบุคคลใดๆ ที่มีมูลค่าของรายการไม่เกิน 800 ล้านบาท แต่มิให้รวมถึงรายการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับมติอนุมัติจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของซีพีเอฟหรือของบริษัทย่อย
(ข) การเข้าซื้อกิจการหรือการควบรวมกิจการในรูปแบบการเข้าซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าของรายการไม่เกิน 800 ล้านบาท
(ค) การปรับโครงสร้างการลงทุนหรือโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่มบริษัท โดยการซื้อขายหุ้น ซื้อขายกิจการ หรือการควบรวมกิจการภายในกลุ่มบริษัท
(3) รายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure)
(ก) รายจ่ายฝ่ายทุนของซีพีเอฟหรือบริษัทย่อยที่มีมูลค่าของโครงการตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 800 ล้านบาท
(ข) รายจ่ายฝ่ายทุนของซีพีเอฟหรือบริษัทย่อยที่อยู่ในงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไว้แล้ว ซึ่งมีมูลค่าของโครงการตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 800 ล้านบาท แต่มีการใช้เกินงบประมาณมากกว่าร้อยละ 10
(ค) การเข้าทำธุรกรรมของซีพีเอฟที่ต้องจดทะเบียนนิติกรรมกับสำนักงานที่ดิน ได้แก่
(ค1) การซื้อหรือรับโอนอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการบริหาร แล้วแต่กรณี
(ค2) การขายหรือโอนอสังหาริมทรัพย์ ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการบริหาร แล้วแต่กรณี
(ค3) การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจปกติหรือสนับสนุนธุรกิจปกติ
(4) ด้านการบริหารการเงินและการบัญชี
(ก) การรับวงเงินสินเชื่อการค้า / สินเชื่อหมุนเวียน (Trade / Working Capital Facilities) ระหว่างซีพีเอฟกับธนาคาร
(ข) การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมระยะยาวระหว่างซีพีเอฟกับบริษัทย่อย
(ค) การขายหรือตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวรของซีพีเอฟหรือบริษัทย่อยที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 800 ล้านบาท
(5) ด้านบุคลากร
(ก) การแต่งตั้งกรรมการบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท
(ข) แผนการพัฒนาบุคลากร การสร้างผู้สืบทอดตำแหน่ง การแต่งตั้ง โยกย้าย หลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน
การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทน และการปรับเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นของผู้บริหารระดับประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการ (COO) และผู้บริหารสูงสุดของสายงานหลัก (Head of Business Unit)
(6) ด้านการกำกับดูแล
(ก) แผนงานการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ประจำปีของกลุ่มบริษัท
(ข) การออกงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการประจำปีและรายไตรมาสของซีพีเอฟ
(ค) การอนุมัติแต่งตั้งผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยทางตรง
หน้าที่และความรับผิดชอบหลักของคณะกรรมการบริหาร
(1) กลั่นกรองเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริษัทย่อย หรือคณะกรรมการชุดย่อย (แล้วแต่กรณี) พิจารณาอนุมัติในเรื่องดัง
ต่อไปนี้
(ก) กลยุทธ์องค์กร เป้าหมาย & แผนธุรกิจระยะยาว และงบประมาณประจำปีของกลุ่มบริษัท
(ข) การซื้อหรือได้มาซึ่งเงินลงทุนในหุ้นหรือส่วนของทุนของนิติบุคคลใดๆ ที่มีมูลค่าของรายการเกิน 800 ล้านบาทขึ้นไป แต่มิให้รวมถึง
รายการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับมติอนุมัติจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของซีพีเอฟหรือของบริษัทย่อย
(ค) การเข้าซื้อกิจการ หรือการควบรวมกิจการในรูปแบบการเข้าซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าของรายการเกิน 800 ล้านบาทขึ้นไป
(ง) รายจ่ายฝ่ายทุนของซีพีเอฟหรือของบริษัทย่อยที่มีมูลค่าของโครงการเกินกว่า 800 ล้านบาทขึ้นไป
(จ) การขายหรือตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวรของซีพีเอฟหรือของบริษัทย่อยที่มีมูลค่าตามบัญชีเกินกว่า 800 ล้านบาทขึ้นไป
(ฉ) การเสนอแต่งตั้งประธานคณะผู้บริหาร (CEO) ของซีพีเอฟ
(ช) แผนงานบริหารความเสี่ยงประจำปีของกลุ่มบริษัท
(2) ติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟให้เป็นไปตามเป้าหมาย แผนธุรกิจระยะยาว และงบประมาณประจำปี
(ข) ความคืบหน้าของโครงการลงทุน และผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับงบประมาณของโครงการลงทุนนั้นๆ
(ค) การดำเนินการตามแผนการพัฒนาบุคลากร
(3) ประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของผู้บริหารระดับสูง
(4) รายงานรายการที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติตามที่ได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
(5) ปฏิบัติการใดๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท