นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงต้องเร่งรัดส่งเสริมภาคเกษตรให้ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลทุ่มเงิน 1.44 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในส่วนของภาคเกษตรจะต้องปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างเร่งด่วน
สำหรับการดำเนินการ ประกอบด้วย 8 ด้านสำคัญ คือ 1.เน้นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) มากขึ้น โดยควรขยับขยายไปสู่โครงการขนาดที่เล็กลงมาถึงระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการร่วมมือ 2.เน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเร่งพัฒนาผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสามารถทดแทนการนำเข้า 3.เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรปลายน้ำ เน้นการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 4.เน้นผลักดันส่งเสริมเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ได้รับการวิจัยแล้วว่าได้ผลนำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่แท้จริง 5.เน้นส่งเสริมการปลูกพืชรองแซมพืชหลัก กรณีเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ที่กินระยะเวลาดังกล่าวนานถึง 7 ปี ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชแซม เช่น พืชล้มลุกทั้งหลายก่อนที่ยางพาราจะให้ผลผลิต เช่น พริกไทย แตงโม ถั่วต่างๆ หรือสับปะรด เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร 6.เน้นส่งเสริมการปลูกพืชแบบหลายชนิด หรือการปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไปในพื้นที่เดียวกันในรอบปี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านรายได้และราคา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ต่อหน่วยพื้นที่และเป็นการสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมด้วย 7.เน้นสินค้าเกษตรสำหรับการบริโภคภายในประเทศให้เพียงพอมากขึ้น นอกจากเพื่อเป็นการลดการนำเข้าแล้วยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางด้านอาหารสำหรับประชากรในประเทศ รวมถึงการปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ ไม่ให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศเข้ามาโจมตีตลาดสินค้าไทยได้ และ 8. เน้นสินค้าเกษตรเข้าสู่ยุค “คุณภาพและคุณธรรม” โดยเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ผู้ผลิตหรือผู้แปรรูปต้องรับซื้อผลผลิตอย่างมีคุณธรรม เพื่อนำไปแปรรูปได้สินค้าที่มีคุณภาพ โดยไม่มีการเอาเปรียบจนทำให้มีปัญหาในการขับเคลื่อน Value Chain เช่น การผลิตข้าวปลอดภัย (GAP) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และมีคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตเกิดความเชื่อมั่นที่จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป
ข้อมูล ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร