ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปตามฤดูกาล จะส่งผลโดยตรงต่อวงการปศุสัตว์และประมง เนื่องจากสัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ หากดูแลไม่ดีและสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถที่จะปรับได้อย่างกะทันหัน ส่งผลให้สัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงเกิดเจ็บป่วย และล้มตาย อันจะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งภาคเศรษฐกิจและเกษตรกร จึงทำให้หลายภาคส่วนต่างออกมาเตือนพร้อมกับแนวทางในการแก้ปัญหาในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นสมาคมวิชาชีพและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งบริษัทเอกชน อย่าง นสพ.สุเมธ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก คาดการณ์ว่า สภาพอากาศร้อนอุณหภูมิจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดความเครียดแก่สัตว์เลี้ยงได้ เกษตรกรจึงควรจัดเตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูร้อน
แนะใช้คลอรีนผสมน้ำ
กรณีหากเกิดปัญหาการขาดแคลนและน้ำไม่สะอาด นสพ.สุเมธ แนะนำว่าให้ใช้คลอรีน 2-3 ppm ผสมในน้ำเพื่อให้น้ำสะอาดไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ได้ พร้อมกันนี้ต้องหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง ตรวจสอบโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี ควบคู่ไปกับการจัดการฟาร์มและการสุขาภิบาลที่ดี
ในส่วนของสัตว์ปีกอย่างไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และเป็ด ต้องระมัดระวังโรคระบาด เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ โรคบิด และโรคที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อราในอาหาร เนื่องจากสัตว์ปีกมักอ่อนแอง่ายกว่าปกติในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงระหว่างวันในฤดูร้อน เกษตรกรจึงควรให้การดูแลและสังเกตอาการสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ให้วิตามินละลายน้ำเพื่อป้องกันสุขภาพสัตว์ก่อน และควรให้วัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ปีกตามที่สัตวแพทย์กำหนด
นอกจากนี้เกษตรกรต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม อาจต้องให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร ในกรณีที่พบสัตว์ป่วยหรือตายเกษตรกรต้องมีการกำจัดให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่นำไปชำแหละขายเพื่อบริโภค หรือทิ้งลงคูคลอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
สารพัดโรคในสัตว์กีบคู่
สอดคล้องกับการแนะนำของ นสพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ที่ระบุว่า อากาศร้อนและแล้งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจัด แม้จะเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนแบบปิดที่สามารถปรับอากาศภายในโรงเรือนได้ก็ตาม แต่อุณหภูมิที่สูงนั้นทำให้ประสิทธิภาพในการปรับอากาศไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้สุกรเกิดความเครียด แสดงอาการหอบ กินอาหารน้อยลง สุกรอาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้การเจริญเติบโตต่ำ ยิ่งเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดโล่ง ยิ่งทำให้สุกรแสดงอาการมากขึ้น นอกจากนี้ที่ควรระวังคือ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส พีอาร์อาร์เอส และยังไม่มียารักษาแต่ไม่ระบาดในคน
"ช่วงหน้าร้อนเกษตรกรต้องระมัดระวังการเกิดโรคระบาดในสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์ในสุกร โรคท้องเสียติดต่อ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคเหล่านี้หากมีการระบาดขึ้นจะสร้างความเสียหายย่างร้ายแรง บางพื้นที่กลางวันร้อนสลับฝนตกและอากาศเย็นในช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำ ทำให้สัตว์ต้องปรับสภาพร่างกายค่อนข้างยาก โดยเฉพาะสัตว์กีบคู่ทั้งโค กระบือ ดังนั้นเกษตรกรต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อที่มักพบบ่อยคือ โรคปากและเท้าเปื่อย โดยมีนก หนู สุนัข แมว เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรค ตลอดจนเชื้อที่ติดมากับบุคคลด้วย" นสพ.ปราโมทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นควรโรยปูนขาว (Calcium carbonate 4%) ที่สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัส FMD ได้ ที่สำคัญต้องเน้นการให้วัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนด รวมทั้งการถ่ายพยาธิภายในและกำจัดพยาธิภายนอกเป็นประจำทุก 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
เทคนิคเลี้ยงปลาฝ่าวิกฤติแล้ง
ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าปี 2558 นี้ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 5,432 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำปริมาณน้ำต้นทุนที่ไหลลงสู่ที่ราบมีน้อยลง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของปลาเลี้ยงทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลานิลและปลาทับทิมที่เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะปลาพวกนี้เหมาะกับอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 26-32 องศาเซลเซียสเท่านั้น
ดังนั้นเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำเปิด อันดับแรกต้องหลีกเลี่ยงการเลี้ยงในแหล่งน้ำตื้น อัตราการไหลของน้ำมีน้อย หรือเป็นจุดตกตะกอน แหล่งน้ำที่ใช้วางกระชังปลาต้องเป็นน้ำสะอาด มีกระแสน้ำไหลดีตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 15 เมตรต่อนาที และต้องลดปริมาณปลาที่จะเลี้ยงลงเหลือร้อยละ 60-70 จากภาวะปกติ เพื่อให้ปลาอยู่สบายไม่แออัดช่วยลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้
กรณีที่ปริมาณน้ำลดลงมากอาจมีผลต่อปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีน้อยลง เกษตรกรควรเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยการติดตั้งเครื่องให้อากาศในกระชัง โดยเทคโนโลยีนี้ซีพีเอฟได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบให้อากาศในบ่อเลี้ยงกุ้ง พบว่าสามารถเพิ่มอากาศในน้ำของระบบกระชังปลาได้เป็นอย่างดี
"สภาพอากาศร้อนจัด ปลาจะเครียด ทำให้ปลามีภูมิต้านทานลดลง เกษตรกรจึงควรเพิ่มวิตามินซีให้ปลากินสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคแก่ปลา ควบคู่กับการใช้สารโปรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์เพื่อช่วยควบคุมเชื้อก่อโรคในตัวปลาได้ และควรให้สารเพิ่มภูมิต้านทานคือ เบต้ากลูแคน ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของปลาช่วยป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆ ได้" นายอดิศร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง กรมปศุสัตว์ได้มีการเผยแพร่สถานการณ์โรคระบาดสัตว์รายสัปดาห์ที่เว็บไซต์ dcontrol.dld.go.th และขอความร่วมมือจากประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หากพบเห็นสัตว์ป่วยตายอย่างผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปแจกจ่าย ขาย หรือประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด และสามารถแจ้งเบาะแสให้อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ของท่านหรือ “สายด่วนแจ้งโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์” โทรศัพท์ 0-2653-4421 หรือ 0-2635-4412
cr. : ดลมนัส กาเจ คม ชัด ลึก ออนไลน์