ย้อนหลังกลับไปปี 2516 นอกจากการเมืองแล้ว ปีนี้ยังถือเป็นปีที่สำคัญต่อวงการเกษตรกรรมของไทย เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกเนื้อไก่ไปยังประเทศญี่ปุ่นได้เป็นครั้งแรก นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญของวงการเลี้ยงไก่ไทยจากการเลี้ยงหลังบ้าน พัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม และเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญของการริเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย หรือ ระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟอีกด้วย
นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดและที่มาโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟว่า เพื่อให้เกษตรกรขยายกำลังการผลิตไก่เนื้อมารองรับการส่งออกไปต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวคิดของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการเห็นเกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน มีความรู้และเทคโนโลยีใหม่ในการเลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะที่ไม่แน่นอนของตลาดสินค้าเกษตร ประกอบกับ ความประทับใจที่ท่านประธานธนินท์เคยเห็นเกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกามีเทคโนโลยีที่สามารถเลี้ยงไก่ได้รอบละเป็นหมื่นตัว และตัวเกษตรกรเองมีฐานะที่ดี จึงต้องการเห็นเกษตรกรไทยดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงไก่พันธุ์ ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายอภัยชนม์ย้อนหลังถึงจุดเริ่มต้นว่า ซีพีเอฟ ได้ริเริ่มโครงการฯ กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอศรีราชาเมื่อปี 2518 เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวในขณะนั้นส่วนใหญ่ทำไร่มันสำปะหลัง มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน ทั้งหมดยังไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน ในสมัยนั้น ระบบการเลี้ยงไก่เชิงอุตสาหกรรมจึงถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และมีน้อยคนที่เข้าใจและเชื่อมั่นว่าจะทำได้ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นำโดยลุงแถม ชูชื่น ประธานสหกรณ์การเกษตรศรีราชา มีความสนใจในระบบคอนแทร็คฟาร์ม และต้องการประกอบอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งต้องขอชื่นชมนายอำเภอศรีราชาและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่เอาใส่ใจเรื่องนี้ ที่ให้คำแนะนำกับกลุ่มเกษตรกรอย่างจริงจัง จนในที่สุด ลุงแถม และเกษตรกรในพื้นที่ 200 รายตกลงใจเข้าร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการฯ กับซีพีเอฟ ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพในการสนับสนุนเงินกู้แก่เกษตรกรรายละ 2 แสนบาทเพื่อใช้ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ที่ได้มาตรฐาน มีระบบป้องกันโรคที่ดี และท่านประธานธนินท์ยังให้ความมั่นใจกับเกษตรกรทุกคนว่ามีรายได้อย่างน้อยรายละ 2,000 บาทต่อเดือนอย่างแน่นอน และบริษัทจะช่วยเหลือเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรหากรายได้ต่อเดือนไม่ถึงจำนวนที่รับรองไว้
ในสมัยนั้นเกษตรกรไทยยังไม่มีความรู้ หรือ โนฮาวน์ในการเลี้ยงไก่ฝูงละหมื่นตัว และพันธุ์ไก่ที่มาจากต่างประเทศยังไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นของไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยด้านพันธุ์ไก่ และระบบการเลี้ยงซึ่งได้รับการถ่ายทอดในช่วงที่ร่วมธุรกิจกับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ไก่มากว่าร้อยปี จึงได้นำความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดแก่เกษตรกรไทยที่ร่วมโครงการฯ โดยในระหว่างการเลี้ยงเจ้าหน้าที่จากบริษัทคอยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในดูแลการเลี้ยงไก่อย่างใกล้ชิดพร้อมกับมีการรับประกันเรื่องตลาด และรายได้ที่แน่นอน กลายเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเนื้อไก่ให้กับซีพีเอฟ
ด้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่กับซีพีเอฟเองรุ่นแรกมีรายได้มั่นคง โดยเฉพาะลุงแถมมีรายได้ 8,000 บาทต่อเดือน และขยายการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องทุกปีจาก 1 หมื่นตัวเป็น 4 หมื่นตัว สามารถชำระเงินกู้ธนาคารได้หมดภายใน 4-5 ปี พร้อมกับได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเลี้ยงจากซีพีอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถสร้างฐานะตนเองให้ดีขึ้น มั่นคง พึ่งพาตนเองได้ ลูกหลานได้เรียนต่อจนจบตามที่ต้องการ ที่สำคัญ เกษตรกรทุกรายมีรายได้สูงกว่าที่บริษัทรับประกันจนไม่ต้องขอรับเงินชดเชยจากบริษัทตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เลย
นายดวงมนู ลีลาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ดูแลโครงการศรีราชา กล่าวว่า ความสำเร็จของเกษตรกรในศรีราชาเมื่อ 40 ปีที่แล้วยังได้ส่งต่อมาถึงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคอนแทร็คฟาร์มในพื้นที่ศรีราชาในปัจจุบันที่มีประมาณ 60 ราย ได้สืบทอดการเลี้ยงไก่เนื้อในรูปแบบประกันราคา มีกำลังการผลิตไก่ในปริมาณที่สูงขึ้นจำนวน 1.2 ล้านตัวต่อปีสำหรับใช้แปรรูปเพื่อส่งให้ร้านอาหารฟาสฟูดส์ และร้านห้าดาวต่อไป
ความสำเร็จของเกษตรกรในโครงการศรีราชาตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมระบบคอนแทร็คฟาร์มให้กับเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกรของซีพีเอฟในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีอยู่ 5,000 ราย และมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อของไทย จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในทุกวันนี้./